หลายคนอาจคิดว่าโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) คือโรคขาดผู้ชายไม่ได้ หรือมีความต้องการทางเพศสูง แต่ความจริงแล้วโรคฮิสทีเรียไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศ หรือการขาดผู้ชายไม่ได้แต่อย่างใด หากแต่เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ หรือควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองไม่ค่อยได้ รวมถึงความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองก็ทำได้ไม่ดีเท่าคนปกติเช่นกัน


อาการแบบไหนที่เข่าข่ายโรคฮีสทีเรีย
โรคฮิสทีเรียแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 

โรคประสาทฮิสทีเรีย (Conversation Reaction) ผู้ป่วยจะมีความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในด้านการเคลื่อนไหว หรือการรับรู้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง มองไม่เห็น เป็นต้น อาการจะกำเริบเมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรง แต่เมื่อผู้ป่วยตรวจร่างกายอาจจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ เพราะเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเอง ไม่ได้เกิดจากโรคทางกาย

โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder: HPD) พบได้บ่อยกว่าโรคประสาทฮิสทีเรีย โดยมีอาการที่สังเกตได้ คือ ต้องการเป็นจุดเด่น หรือจุดสนใจ พูดจาหรือแสดงท่าทางเกินจริง ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น อารมณ์แปรปรวน ขี้เบื่อ หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ทันทีเมื่อรู้สึกเสียใจหรือผิดหวัง และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองเมื่อไม่ได้สิ่งตามที่ต้องการ

ผู้ป่วยโรคฮีสทีเรียมักมีสาเหตุจากการขาดความรักอย่างมาก อาจเป็นปมฝังใจตั้งแต่วัยเด็ก หรือพบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวังมาก นอกจากนี้อาจเกิดจากพันธุกรรม และการได้รับการสั่งสอนที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการเพียงโหยหาแค่ความรัก และความสนใจ แต่ไม่ได้ต้องการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งแต่อย่างใด


การรักษาโรคฮีสทีเรีย
สามารถทำได้ด้วยการบำบัดทางจิต พบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยหาสาเหตุของการเกิดโรค ปรับความคิด และพฤติกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ยารักษาตามอาการควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยโรคนี้มักมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติ คนรอบข้างจึงควรเข้าใจ และให้เวลากับการดูแลพวกเขาอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในอนาคต

ภาพประกอบ: pexels.com

 3,303 total views,  4 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version