จังหวัดนครพนมได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีความสุขมี่สุดในประเทศไทย ด้วยเพราะความเงียบสงบ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความไม่ปรุงแต่งจนเกินงาม แถมมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคู่หูเดินทางฉบับนี้ขอพาท่านผู้อ่านมาเริ่มต้นปีใหม่เพื่อให้ชีวิตดี๊ดีโดยการมากราบสักการะ 7 พระธาตุประจำวันเกิดแห่งเดียวในประเทศไทยที่จังหวัดนครพนมความงดงามอันทรงคุณค่าทั้งทางพุทธศาสนาวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่ยังคงส่งต่อมาให้เราได้ชื่นชมกันจากรุ่นสู่รุ่น
ที่ล้านนามีคติไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ส่วนทางภาคอีสานมีการไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ตามความเชื่อว่า ที่แห่งใดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุหลัก บริเวณใกล้เคียงก็จะมีพระธาตุบริวารเกิดขึ้นรายล้อมพระบรมธาตุองค์หลัก และเชื่อว่าเป็นพระธาตุที่แตกตัวมาจากพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระอรหันต์ และสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีดาวนพเคราะห์ประจำวันคอยปกปักษ์รักษา ที่จังหวัดนครพนมแห่งนี้ก็เช่นกัน มีพระธาตุพนมเป็นองค์พระธาตุหลัก และมีพระธาตุบริวารล้อมรอบอยู่ในอำเภอต่างๆ รอบนอก

ปกติแล้วการได้มากราบไหว้พระธาตุถือเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิต เพราะพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การไหว้พระธาตุจึงเป็นเสมือนการกราบไหว้สิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ผู้ที่บูชาด้วยจิตศรัทธา ยิ่งหากพระธาตุองค์นั้นเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้กราบไหว้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองยิ่งขึ้นด้วย การมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เหมือนการมาเพิ่มพลังใจในการดำเนินชีวิตให้มีสติและแนวทางที่ถูกต้อง การคิดดี ทำดี พูดดี การเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของเพียงเล็กน้อยเพื่อคนรอบข้างยามมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเพียงรอยยิ้ม หรือทรัพย์สินอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่นำพาความสุข ความเจริญมาสู่ท่านและครอบครัวทั้งสิ้น

๑ พระธาตุพนม
(สำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ แลผู้ที่เกิดปีวอก)

ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำวันอาทิตย์ และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีวอกอีกด้วย ใครที่เกิดปีนี้และตรงกับวันอาทิตย์พอดีถือว่าได้ 2 เด้งในที่เดียว พระธาตุพนมไม่เพียงเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครพนม แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสาน รวมไปถึงพี่น้องชาวลาวด้วยเช่นกัน
พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเก่าแก่ สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1200 – 1400 ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นโดยพระมหากัสปะเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่างๆ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า (สถานที่ตั้งของพระธาตุในปัจจุบัน)
หลังจากการสร้างครั้งแรก พระธาตุพนมก็ได้มีการบูรณะอีกหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ได้มีการต่อเติมเสริมรูปแบบไปบ้าง แต่ครั้งที่พระธาตุพนมเปลี่ยนรูปแบบไปมากที่สุดคือเมื่อ พ.ศ. 2518 เมื่อพระธาตุพนมได้พังทลายลงทั้งองค์เนื่องจากความเก่าแก่ รวมถึงมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน แต่ได้รับการบูรณะให้แข็งแรงสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าผู้ที่มากราบนมัสการจะได้รับอานิสงส์มีบุญบารมี และมีคนให้ความเคารพนับถือ

๒ พระธาตุเรณูนคร 
(สำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์)

ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร ห่างจากตัวอำเภอเมืองนครพนมประมาณ 51 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุพนมองค์เดิม แต่ขนาดเล็กกว่า ภายในพระธาตุบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน และเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมืองสมัยก่อน นอกจากนั้นภายในอุโบสถของวัดพระธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานของพระองค์แสน พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิศิลปะแบบลาว พระคู่บ้านของชาวเรณูนคร เชื่อกันว่าคนที่เกิดวันจันทร์มักเป็นคนมีเสน่ห์ ใครได้กราบไหว้จะมีรูปงามผ่องใส ตรงกับลักษณะของเทพประจำวันจันทร์

๓ พระธาตุศรีคุณ
(สำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร)

ประดิษฐาน ณ วัดธาตุศรีคุณ ตำบลนาแก อำเภอนาแก พระธาตุองค์นี้ถูกค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ. 2340 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2486-2490 มีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนม ภายในบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอัครสาวกซ้ายขวาของพระพุทธเจ้า และพระสังกัจจายนะ ตามตำนานของพระธาตุองค์นี้มีกษัตริย์นักรบเป็นผู้ก่อสร้าง ตรงกับลักษณะของคนที่เกิดวันอังคารซึ่งจะเป็นนักต่อสู้ มีน้ำอดน้ำทนเป็นเยี่ยม เชื่อว่าหากใครได้ไปสักการะจะได้อานิสงส์ มีศักดิ์ศรีทวีคูณ และจะเสริมพลังนักสู้ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น

๔ พระธาตุมหาชัย
(สำหรับผู้ที่เกิดวันพุธ)

ประดิษฐาน ณ วัดโฆษิตดาราม ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก ห่างจากตัวเมืองนครพนม 40 กิโลเมตร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 องค์พระธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยมสูง 40 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตสารีริกธาตุของพระอัญญาโกณฑัญญะ พระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา รวมทั้งพระสารีริกธาตุของพระสารีบุตร และพระอนุรุท ภายในพระอุโบสถยังมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พระพุทธรูปปางห้ามญาติแกะสลักจากไม้ ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีภาพเขียนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติที่งดงาม เชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุมหาชัยจะประสบแต่ชัยชนะในชีวิต จะเป็นนักประสานสิบทิศ โอภาปราศรัยดี ค้าขายคล่อง พูดจาดีมีคนเชื่อถือ

๕ พระธาตุประสิทธิ์
(สำหรับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี)

ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 98 กิโลเมตร เป็นเจดีย์โบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2436 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่โดยจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พระพุทธรูปเก่าแก่ ดินจากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย 4 แห่ง และพระพุทธบาทจำลองที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2500 มีตำนานบอกไว้ว่าพระธาตุแห่งนี้มีพระเป็นผู้สร้าง ที่สำคัญพระประธานของวัดอยู่ประจำทิศตะวันตก ตรงกับพระพฤหัสบดีที่อยู่ทิศตะวันตกเช่นกัน เชื่อว่าผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุประสิทธิ์ จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้ประสมความสำเร็จในการประกอบอาชีพกางาน

๖ พระธาตุท่าอุเทน
(สำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์)

ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุอุเทน อำเภอท่าอุเทน ห่างจากอำเภอเมืองนครพนม 26 กิโลเมตร สร้างโดยพระอาจารย์ศรีทัตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2455 เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม จำลองมาจากพระธาตุพนม แต่มีขนาดเล็กและสูงกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระพุทธสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า รวมทั้งพระพุทธรูปและของมีค่าต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาบรรจุถวายไว้ พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ คือ พระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ เชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้บุญพาวาสนาส่งให้เป็นเจ้าคนนายคน ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ

 

๗ พระธาตุนคร
(สำหรับผู้ที่เกิดวันเสาร์)

ประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองนครพนม พระธาตุมีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2465 มีรูปแบบตามพระธาตุพนมองค์เดิม ภายในบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าต่างๆ จากประชาชนผู้มีจิตศรัทธาถวายบรรจุเอาไว้ในองค์พระธาตุ พระธาตุแห่งนี้มีเทวดานพเคราะห์ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ปกปักษ์รักษา เชื่อกันว่าผู้มาสักการะจะได้อานิสงส์ส่งผลให้มีบุญวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน มีคนให้ความอุปถมป์ค้ำชู

หากท่านใดมากราบสักการะพระธาตุนคร ที่วัดมหาธาตุ บริเวณเขตเทศบาลเมืองนครพนม ห้ามพลาดการนั่งเรือเที่ยวชมสองฝั่งแม่น้ำโขงยามพระอาทิตย์อัสดง เพราะคุณจะได้อีกมุมมองของบรรยากาศยามเย็นที่สุดแสนประทับใจ เรือจะออกนำเที่ยวเวลา 17.00 น. ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง (ท่าเรืออยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดอินโดจีน ลานพนมนาคา) ค่าโดยสารท่านละ 50 บาท คุ้มสุดคุ้ม! สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 08 6230 5560, 0 4251 4436

 

การเดินทางไปจังหวัดนครพนม

1.โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แยกขวาเข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 23 ไปจนถึงจังหวัดมหาสารคาม แล้วแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 213 ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึง จังหวัดสกลนคร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 22 ต่อไปจนถึงจังหวัดนครพนม รวมระยะทางประมาณ 740 กิโลเมตร

2. โดยรถประจำทาง

มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-นครพนม ออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง สอบถาม รายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

 10,287 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version