ฝน..ฝน..ฝน.. สายฝนที่ตกลงมานำพาซึ่งความชุ่มชื่นสู่ต้นไม้ ใบหญ้า และป่าเขา ชาวไร่ ชาวนาเตรียมเฮเมื่อฝนแรกได้มาเยือน เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า.. ถึงฤดูการทำนากันแล้ว
การทำนามีหลายรูปแบบทั้งทำนาแบบพื้นราบที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ทำนาในทะเลสาบ อันนี้ก็จะมีที่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น (ถ้ามีโอกาสเราจะพาไปเที่ยว)
และการทำนาแบบขั้นบันได มีเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบนบริเวณพื้นที่ราบสูง
และในฉบับนี้คู่หูเดินทางเลยไม่รีรอ ขอพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับความเขียวขจีชวนหลงใหลของนาขั้นบันไดที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศ แล้วคุณจะรู้ว่า “แจ่มว้าวววว…” ขนาดไหน
แม่แจ่ม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่หลังดอยอินทนนท์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 150 กม. ขับรถขึ้นมาทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เจอด่านที่ 2 ของอุทยานฯ ให้ขับขึ้นไปอีกเล็กน้อยจะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปทาง อ.แม่แจ่ม ไม่เสียค่าผ่านทาง เพียงบอกไปว่าจะไปแม่แจ่มเท่านั้น จากจุดนี้อีก 22 กิโลเมตรก็จะจุดหมายปลายทางแล้ว
อำเภอเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองอย่างแม่แจ่ม ความสะดวกสบายบางอย่างอาจลดน้อยลง เส้นทางที่คดโค้ง คดเคี้ยว เลี้ยวเลาะขอบเขาอาจจะทำให้ใครบางคนท้อใจ มึนหัว เมารถกันไปบ้าง แต่นั่นแหละสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเกาะกำบังให้ความคงอยู่ของวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่งดงามของวัดวาอารามโบราณสถานต่างๆ ในสมัยก่อน รวมถึงธรรมชาติต่างๆ โดยรอบยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่จนถึงทุกวันนี้
แล้วที่แม่แจ่มมีสถานที่ท่องเที่ยวใดที่น่าสนใจบ้างตามเรามาได้เลย…

 

1. นาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง
เป็นจุดชมนาขั้นบันไดมุมสูงแบบ 180 องศาที่สวยที่สุดของที่นี่ การเดินทางขึ้นมายังจุดนี้ค่อนข้างลำบากต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือหากขับไม่แข็งพอก็จ้างรถในพื้นที่ได้ แต่รับรองว่าคุ้มสุดคุ้ม! ภาพท้องทุ่งนาขั้นบันไดที่กวางขว้างระนาบตลอดแนวถนน มีเถียงนาที่ชาวนาสร้างเป็นบ้านเล็กๆ เพื่อหลบแดดหลบฝนยามมานอนเฝ้านาเป็นจุดนำสายตาที่ดูกลมกลืน เมื่อขึ้นมาถึงบนนี้แล้วอย่าลืมสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ เพื่อเก็บกลิ่นอายความบริสุทธิ์ของโอโซนรอบๆ ตัว ให้สมองที่เหนื่อยล้าได้พักผ่อนกับวันชิลล์ๆ กันบ้าง การเดินทางมายังจุดนี้ จากวงเวียนหน้าเทศบาลแม่แจ่ม มุ่งหน้าไปทางน้ำออกฮูก เจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางบ้านทุ่งยาว ขับไปตามทางเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 กิโลเมตร สุดทางถนนขรุขระบนยอดเขาเมื่อไหร่… จุดนั้นคือจุดชมวิวนาขั้นบันไดไฮไลท์ดาวเด่นที่ห้ามพลาด เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น

 

2.นาขั้นบันไดบ้านกองกาน
สำหรับคนที่รักธรรมชาติ อยากชมท้องทุ่งนาขั้นบันไดแต่ไม่อยากผจญภัยมากนัก ที่บ้านกองกานก็มีให้ชมเช่นกัน แม้จะไม่อลังการงานสร้างเท่ากับบ้านป่าบงเปียง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดพักสายตาที่มีท้องทุ่งนาสีเขียวให้ชมเหมือนกัน การเดินทางสะดวกสบายเพราะมีถนนหนทางลาดยางอย่างดี จากตัวตลาดสดให้ขับรถข้ามแม่น้ำแม่แจ่ม เลี้ยวขวาแล้วขับไปตามทางเรื่อยๆ ประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะเริ่มสังเกตเห็นความเขียวขจีของท้องทุ่งนาขั้นบันไดกันแล

 

3.วัดกองกาน
อยู่ก่อนถึงนาขั้นบันไดประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญของชาวแม่แจ่ม เนื่องจากภายในวิหารมีพระเจ้าตนหลวงซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม ตามคำบอกเล่าในราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มาจากลังกาทวีป เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ พระเจ้าตนหลวงนี้สร้างแบบล้านนาและมีขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม ตัววิหารเป็นไม้ ส่วนหลังคามุงแป้นเกล็ดแบบโบราณวัดกองกาน หมายถึง วัดที่มีผู้มีจิตศรัทธามาทำบุญเป็นจำนวนมาก หาบข้าวของมาแล้วเอาไม้คานที่หาบของมากองรวมกันไว้ ในเวลาต่อมาได้ยึดถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ (เดือน 8 เป็ง) เป็นวันทำบุญสักการะบูชาพระเจ้าตนหลวงจนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกจุดหนึ่งที่ต้องเดินไปชมคือ ทางด้านหลังวัดจะมีสะพานแขวน (ขัวโต๋งเต๋ง) ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน ลมพัดเย็น บรรยากาศดี วิวสวย

 

4.วัดพุทธเอ้น
ตั้งอยู่ที่ ต.ช่างเคิ่ง มีชื่อเดิมว่า วัดศรีสุทธาวาสเอิ้นมงกุฎ มีตำนานเล่าขานกันว่า ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดเวเนยสัตว์ผ่านมา และได้ทรงหยุดพักผ่อนที่ดอนสกานต์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดในปัจุบัน ได้ทรงตรัสเรียกหาพระอานนท์ พระพุทธอุปัฏฐากให้หาน้ำมาเสวย เสร็จแล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ลง ณ บริเวณที่บ่อน้ำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ่อน้ำที่มีลักษณะเป็นน้ำบ้วนออกจากใต้พื้นดิน ไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะแล้งเพียงใดก็ตาม ต่อมาได้มีพระภิกษุ 2 รูป คือ พระติวิทวังโส และพระชมพูวิทโย ได้ธุดงค์ผ่านมาจึงได้รวมชาวบ้านในระแวกนั้นสร้างวัดขึ้นตรงบริเวณที่น้ำพุ่งออกมา 

ปัจจุบันบริเวณบ่อน้ำนี้ก็มีชาวบ้านนำขวดน้ำมารองน้ำไว้ดื่มกินกันตลอดเวลา แม้ในปัจจุบันจะมีระบบน้ำประปาที่ดีแล้วก็ตาม เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์พ่ออุ้ยท่านหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า ด้านบนที่สร้างเป็นศาลาคุมบ่อน้ำไว้นั้น ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้นไปเด็ดขาด มิฉะนั้นน้ำในบ่อจะเน่าเสีย ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ผิด ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ใดก็ควรรู้กฎระเบียบของสถานที่ต่างๆ ไว้ด้วยเพื่อเป็นการเคารพสถานที่

ภายในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกจุดหนึ่งซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วคือ “โบสถ์น้ำ” ลักษณะคือสร้างในสระสี่เหลี่ยมโดยปักเสาลงในน้ำล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงบริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพง เรียกว่า “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบก คติการบวชในโบสถ์กลางน้ำนั้นถือว่าเป็นการบวชพระภิกษุสงฆ์ที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายลังกา ปัจจุบันการบวชกลางน้ำนี้ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว บริเวณด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่ ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลไทยใหญ่ ปัจจุบันหลงเหลือเพียงภาพเดียวเหนือประตู ทางเข้าด้านหลัง

 

5.วัดยางหลวง
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.ท่าผา เส้นทางเดียวกับวัดป่าแดด ไม่ไกลกันมาก ชาวกะเหรี่ยง หรือ “ยาง” เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 24 สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ คือ พระพุทธรูปไม้สักองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ หากไม่สังเกตก็จะดูเหมือนพระพุทะรูปทั่วไป แต่จริงๆ แล้วประกอบขึ้นมาจากไม้สักทั้งองค์ กู่ปราสาท (เขาคิชกูฏจำลอง) อยู่บริเวณด้านหลังพระพุทธรูป คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบพุกามจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน รูปปั้นราชสี เป็นศิลปะสมัยโบราณ ฯ และเมื่อเดินเข้าไปในพระอุโบสถหากปิดประตูและหน้าต่างทุกบานแล้ว จะมีช่องแสงเล็กๆ ลอดมาทางหน้าต่างด้านขวามือ เมื่อมองลงไปที่พื้นเราจะเห็นเงาสะท้อนภาพสีของวิหารหลังข้างๆ อย่างชัดเจนในวันที่อากาศแจ่มใส คล้ายๆ กับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง


6.วัดป่าแดด
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 บ้านป่าแดด ต.ท่าผา มีพระธาตุสีขาวตั้งสูงเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณด้านหน้าของวัด ทางด้านขวามือจะเป็นโบสถ์ไม้ทรงล้านผสม ห้ามผู้หญิงขึ้นไปด้านบนโบสถ์ เมื่อเดินเข้ามาผ่านกำแพงวัดด้านในจะเป็นหอพระไตรปิฎก และวิหาร ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ผู้มือช่างพื้นบ้าน บนเพดานเหนือพระพุทธรูปจะเป็นของรูปจักรวาล ด้วยความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั่นเอง (ต้องสังเกตดีๆ) บริเวณด้านข้างจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์วาดโดยช่างแต้ม ชาวไทยใหญ่ เป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดกต่างๆ วิหารหลังนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400

การได้มาเที่ยวที่นี่ทำให้นาฬิกาชีวิตของเราเดินช้าลง ความเจริญต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยว ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน รวมถึงการค้าขายสินค้าพื้นเมืองอย่างผ้าซิ่นตีนจก ทุกอย่างดูครึกครื้นขึ้น ทำให้คนในแม่แจ่มสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องออกไปใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ แออัด ติดขัดกันอยู่ในเมืองอย่างเช่นเราๆ ท่านๆ … ช่างเป็นชีวิตสโลว์ไลฟ์อย่างแท้จริง

อากาศที่บริสุทธิ์ เย็นสบาย ลมพัดโชยเอื่อยๆ ในวันฝนพรำ หยิบหนังสือเล่มโปรดมาอ่านเพื่อความบันเทิงของสมอง พร้อมเอนกายนอนพักผ่อนให้ชีวิตค่อยๆ ขับเคลื่อนไป ปล่อยหัวใจล่องลอยไปกับสายฝน … แค่นี้ก็ขอบอกว่า “แจ่มว้าวววว…” แล้ว

การเดินทาง

1.โดยรถส่วนตัว ไปได้ 2 เส้นทาง

เส้นทางที่ 1 ออกจากเชียงใหมใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาที่อำเภอฮอด มุ่งหน้าไปทางแม่ฮ่องสอน ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง เลี้ยวขวาที่ กม.22 เข้าทางหลวงหมายเลข 1088 อีก 45 กม.ก็เข้าสู่ตัวอำเภอแม่แจ่ม

เส้นทางที่ 2 ออกจากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ ก่อนถึงอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาแยกเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยทางหลวงหมายเลข 1009 มุ่งหน้าสู่ยอดดอยอินทนนท์ พอผ่านด่านของอุทยานด่านที่ 2 จะแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1192 ระยะทาง 22 กม. ก็จะถึงแม่แจ่ม ทางช่วงนี้จะเป็นทางบนเขาที่แคบ ชัน และมีโค้งหักศอกตลอดทาง ควรขับด้วยความระมัดระวัง เส้นทางนี้จะใกล้กว่าสายฮอด ประมาณ 30 กม.

2.โดยรถประจำทาง

มีรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

 3,640 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version