ฝนตกพรำๆ หลายคนมักบ่นเรื่องเศรษฐกิจจนชีวิตเริ่มหดหู่ เราลองออกมาข้างนอก เปลี่ยนบรรยากาศ เปิดหูเปิดตา ออกมาสัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มพลังแห่งชีวิตกันดูบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชีวิตดูชุ่มฉ่ำ  เหมือนกับสายฝนแรกที่เริ่มโปรยปรายในต้นฤดูนี้… (ถึงแม้ว่าจะมาช้าสักนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มานะ)

คู่หูเดินทางฉบับนี้ จะพาคุณล่องลำน้ำชมความงดงามและวิถีชีวิตที่ “เกาะเมืองอยุธยา” ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวงเก่าโอบล้อม ด้วยแม่น้ำสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีคลองธรรมชาติและคลองขุดเป็นตัวเชื่อม จนได้รับฉายานามว่า “เวนิสแห่งตะวันออก” 

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน วัดและพระราชวังต่างๆ เมืองอยุธยาได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของความเป็นเมืองแห่งลุ่มแม่น้ำลำคลองรอบตัวเมือง

เรือสำหรับพานักท่องเที่ยวนั่งชมรอบเกาะเมืองอยุธยานั้นมีอยู่หลายท่า เป็นเรือชาวบ้าน นั่งได้ 5-6 คนแบบสบายๆ วันนี้เรามาขึ้นที่ท่าเรือเทศบาลฯ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดปราสาท ค่าเรือลำละ 700 บาทใช้เวลานั่งชมวิวเพลินๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากจอดแวะขึ้นท่าวัดไหนก็จะคิดค่าแวะท่าละ 100 บาท หรือจะนั่งไปเที่ยวที่พระราชวังบางปะอินก็ได้ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ป้าอ้วน โทร. 08 6751 1373 หรือ 08 6801 3448

การนั่งเรือล่องเที่ยวทางน้ำนั้น คุณจะได้สัมผัสกับความตื่นตาตื่นใจอีกรูปแบบหนึ่งต่างจากทางบก ความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนริมน้ำในสมัยก่อนที่ใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก บรรยากาศภาพคืนวันเก่าๆ ที่แอบแฝงตัวอยู่ในความทันสมัยของคนเมืองในยุคปัจจุบัน ผ่านหลากหลายเรื่องราวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ภาพของวัด มัสยิด ศาลเจ้า และโบสถ์ มีให้เห็นเป็นระยะ แสดงให้เห็นถึงการเจริญสัมพันธ์ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติในยุคสมัยต่างๆเมื่อเรือเริ่มแล่นออกจากท่ามุ่งหน้าไปทางด้านขวามือ ตลอดทางเราจะเห็นบ้านช่องและวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำและลำคลอง บ้างบ้านก็ยังเป็นบ้านทรงไทยแบบสมัยโบราณ บ้างบ้านก็ปล่อยผุพังไปตามกาลเวลา หรือบ้างบ้านที่มีฐานะหน่อย เราก็จะได้เห็นบ้านปูนรูปทรงทันสมัย สลับสับกันไปมาตลอดทาง จุดแรกที่เรือจะมาถึงคือ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ตรงชุมทางที่แม่น้ำเจ้าพระยาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก เรียกว่า “บางกะจะ” วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ซึ่งในสมัยอยุธยาใช้เป็นท่าเรือสำคัญในการค้าขายกับพ่อค้าเรือสำเภาของชาวต่างชาติ ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด คือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือที่ชาวไทยเรียกว่า “หลวงพ่อโต” ชาวจีนเรียกว่า “หลวงพ่อซำปอกง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีความงดงามและใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา และ พระพุทธรูปในพระอุโบสถมีอยู่ 3 องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำพระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาค พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำจากทองสัมฤทธิ์ มีสีทองอร่ามใส องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 5 ศอก ส่วนพระพุทธรูปนาคเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเช่นกัน จะมีสีเหลืองออกอมแดง กล่าวกันว่าพระพุทธรูปทองและนาคนี้เพิ่งถูกพบว่าเป็นพระทองและพระนาคด้วยบังเอิญ เนื่องจากแต่เดิมทีพระทั้งสององค์ถูกฉาบเคลือบด้วยปูน เมื่อเศษปูนได้ค่อยๆ กระเทาะออกมา จึงได้เห็นว่าเป็นพระทองคำทั้งองค์ และนำมาประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัด

ทางทิศเหนือของวิหารหลวงพ่อโต ใกล้กับแม่น้ำป่าสักเป็น ตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก มีลักษณะเป็นเก๋งจีน ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย” มีประวัติว่า นางสร้อยดอกหมากเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งได้ยกให้พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงสยาม แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งไม่มารับพระนางที่เรือเพื่อจะเข้าพระนครด้วยพระองค์เอง พระนางสร้อยดอกหมากจึงได้กลั้นใจตาย พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะ และที่นี้เองได้สถาปนาเป็นพระอารามให้นามชื่อว่า วัดพระนางเชิง หรือ วัดพระนางทำเชิง

ฝั่งตรงข้ามไม่ไกลจากวัดพนัญเชิงมากนักจะเป็นที่ตั้งของ ป้อมเพชร ซึ่งเป็นป้อมปราการสมัยอยุธยา สมัยโบราณจะมีเรือที่จะเข้ามาเทียบท่า ณ เกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาลักษณะป้อมก่อด้วยอิฐสลับศิลาแลง มีช่องคูหาก่อเป็นรูปโค้งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อม

นั่งชมวิวทิวทัศน์ต่อไปเรื่อยๆ ผ่านโค้งน้ำมาสักระยะหนึ่ง จะเห็นพระปรางค์องค์ใหญ่สีขาว ศิลปะแบบขอม ตั้งเด่นเป็นสง่า จุดนี้คือที่ตั้งของ วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งสร้างในบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (ครองราชย์ พ.ศ. 1893 – 1912) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประทับก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ในปี พ.ศ.1896 เพื่อเป็นอนุสรณ์ ด้านหน้าปรางค์องค์ใหญ่ประดิษฐานพระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง และมีพระพุทธรูปรายเรียงรอบปรางค์ประธาน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้คือ อนุสาวรีย์บูรพมหากษัตริย์ 5 พระองค์ ที่ทรงสร้างคุณงามความดีไว้แก่แผ่นดิน ตั้งหันหน้าออกมาทางแม่น้ำ เริ่มจากองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา เมื่อมาถึงแล้วต้องกราบสักการะท่านเป็นดีที่สุด

ถัดไปไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของ โบสถ์นักบุญยอแซฟ ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านฝรั่งเศส สมัยอยุธยาโบสถ์แห่งนี้ถูกทำลายไปเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 และได้ก่อสร้างขึ้นมาใหม่สมัยรัชกาลที่ 4

อีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจงดงามทุกมุมมองทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ วัดไชยวัฒนาราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ผังของวัดจำลองจากคติจักรวาลในพุทธศาสนาพระปรางค์ประธานแทนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล ล้อมรอบ ด้วยปรางค์บริวารประจำมุมสี่ทิศแทนทวีปใหญ่สี่แห่งในเมรุราย ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ในยามค่ำคืนจะมีการเปิดไฟส่ององค์พระปรางค์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นความงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง
ถัดไปอีกสักระยะจะเห็น วัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดนี้เดิม ชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานหลักของวัด และยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยาซึ่งมีลายดาวเพดานจำหลักไม้งดงามมาก ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่งในฝังตรงข้ามกับวัดจะเป็น เจดีย์พระศรีสุริโยทัย สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์คราวศึกยุทธหัตถี ในปี พ.ศ. 2091 ในสมัย พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนอง ยกกองทัพพม่ารามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยไท ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสของ้าวฟันพระอังสาขาด สะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้

ก่อนทริปล่องเรือจะมาบรรจบ ณ จุดเดิมก็จะผ่าน พระราชวังจันทรเกษม หรือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จันทรเกษม ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบในอยุธยา …จากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายการท่องเที่ยวทางน้ำ แล้วหันกลับมาเที่ยวทางบกกันต่ออีกสัก 3-4 แห่งที่ตั้งอยู่บนกลางเกาะอยุธยาและไม่ไกลกันมากนัก

เริ่มต้นด้วยการมากราบสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างวัดพระศรีสรรเพชญ์และบึงพระราม ขนาดหนึ่งเท่าครึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และรมด้วยน้ำยาสีเขียว พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระเกศาเกล้าขึ้นและฉลองพระองค์แบบพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้สู่วัดพระราม ที่บรรจุอัฐิของพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เป็นท้องสนามหลวงเดิม คือ หน้าวิหารพระมงคลบพิตร จัดสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2511 -2513 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2513 โดยในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี ชาวอยุธยาจะร่วมกันบำเพ็ญกุศลอุทิศเป็นราชพลีแด่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง

เมื่อมองตามทางตรงไปจะเห็น วิหารพระมงคลบพิตร เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่สีทองเหลืองอร่าม เป็นหนึ่งในพระที่ประชาชนนิยมมากราบไหว้สักการะ ขอพรเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991–2145 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ เปิดให้เข้าชม วันธรรมดา ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 08.00-17.00 น.

ใกล้กับวิหารฯ จะเป็นทางเข้าชม พระราชวังโบราณ และ วัดพระศรีสรรเพชญ์  คนไทย เสียค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00 – 18.30 น. และในเวลา 19.30 – 21.00 น. จะเปิดไฟตามขอบมุมต่างๆ เพื่อโชว์ความงดงามของโบราณสถานในยามค่ำคืน

วัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันส่วนที่ยังคงสภาพให้เห็นเด่นชัด คือ เจดีย์สามองค์ที่บรรจุพระบรมอัฐิกษัตริย์อยุธยาสามพระองค์  ถ้าเข้ามาทางวิหารพระมงคลบพิตร เจดีย์องค์ขวามือเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ องค์กลางเป็นของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และองค์ซ้ายมือเป็นของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในสมัยอยุธยาวัดแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา หากแต่ใช้เป็นที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ในวโรกาสต่างๆ เช่นเดียวกับวัดพระแก้วในปัจจุบัน

พระราชวังหลวง หรือ พระราชวังโบราณ ปัจจุบันปรากฏคงเหลือแต่ฐานของอาคาร มีเพียงวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ยังคงรูปทรงสถาปัตยกรรมอันงดงามให้เราได้ยลโฉม สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อ พ.ศ. 1890 และเมื่อสร้างกรุงเสร็จใน พ.ศ.1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน พระที่นั่งต่างๆ ในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้ อยู่ในบริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อ พ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงถวายที่บริเวณพระราชวังเดิมสร้างเป็นวัดในเขตพระราชวัง เรียกว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” แล้วทรงสร้างพระราชวังหลวงใหม่ขึ้นไปทางทิศเหนือชิดริมแม่น้ำลพบุรี พระที่นั่งต่างๆ ในเขตพระราชวังเดิมเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อยุธยาทุกรัชกาล การเข้าชมสามารถเข้าทางวัดมงคลบพิตรผ่านวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วเดินต่อไปยังพระราชวังโบราณได้ บริเวณพระราชวังแบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน

เมื่อออกมาแล้วข้ามถนนไปอีกฟากหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของ วัดพระราม ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในบริเวณที่เคยเป็นที่ถวายพระเพลิง
พระบรมศพของพระเจ้าอู่ทอง พระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ. 1912 นับว่าเป็นวัดสำคัญเพราะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ครั้งสำคัญคือในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดดเด่นด้วยองค์พระปรางค์ลักษณะเป็นแบบฝักข้าวโพดขนาดใหญ่ มีปรางค์บริวาร 3 องค์ ด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งบึงน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า “บึงพระราม” เดิมชื่อ บึงชีขัน หรือ หนองโสน

จากวัดพระรามแล้วเลี้ยวซ้ายสองครั้งจะเจอกับ วัดมหาธาตุ สร้างขึ้นในสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่เข้าใจว่าการก่อสร้างเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระราเมศวร จารีตของการสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่เอาไว้ในเมือง ซึ่งถือสมมุติว่าพระเจดีย์นั้นเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุ และวัดนั้นถือว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะมีชื่อว่า วัดมหาธาตุ หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรากฏโดยทั่วไปในทุกภูมิภาค จารีตดังกล่าวนี้จะเริ่มในสมัยใดนั้นไม่ทราบได้ แต่หากจะพิจารณาเฉพาะอาณาจักรอยุธยา จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ วัดมหาธาตุจึงเป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่งของอาณาจักร ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งหากจะพิจารณาดูสถานที่ตั้งก็จะเห็นว่า
อยู่ใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น วัดนี้จึงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ฝ่ายคามวาสี) มาตลอดจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา (ส่วนพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล หรือ สำนักวัดป่าแก้ว)


และมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากสถาปัตยกรรมความงดงามวิจิตรบรรจงของสถานที่ แล้ว คือ เศียรพระพุทธรูปในรากไม้ ซึ่งมีรากไม้ต้นโพธิ์ปกคลุมอยู่ โดยเศียรพระพุทธรูปนี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแค่ส่วนเศียร เป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากโพธิ์ข้างวิหารราย ทั้งนี้ เข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุม เพราะความสวยแปลกตานี้เอง จุดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ เวลา 08.30 – 16.30 น.

โดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ฯ จะมีบริการให้เช่ารถจักรยานขี่เที่ยวชมแบบเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ หรือใครอยากย้อนวันวานไปอีกหน่อยก็สามารถขี่ช้างชมวัด ที่วังช้างอยุธยา แลเพนียด ได้เช่นกัน

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษา และรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษที่ได้สร้าง ซ่อม และทะนุบำรุงสิ่งต่างๆ ส่งต่อสืบทอดมายังชนรุ่นหลัง

การมาเที่ยวยังโบราณสถานต่างๆ ควรแต่งกายให้สุภาพ ไม่พูดคุยเสียงดังโวยวาย การถ่ายภาพต่างๆ ควรเคารพในสถานที่ และควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ที่กำหนดไว้

การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ 3 เส้นทางดังนี้

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือ ทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานี ต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รถโดยสารสาธารณะ

มีรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่วิ่งขึ้นไปยังจังหวัดทางภาคเหนือหลายเส้นทางวิ่งผ่าน สอบถามรายละเอียดตารางเดินรถได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

 

 6,755 total views,  14 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version