หากเราเคยมีความเชื่อฝังใจมาช้านานว่าการท่องเที่ยวในฤดูฝนนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการทั้งปวงแล้วละก็ ต้องขอให้ท่านลองทบทวนดูสักทีว่า ท่านเคยไปหาประสบการณ์นั้นมาด้วยตนเองหรือเพียงฟังการเล่าขานแล้วมาสานต่อก่ออคติขึ้นในใจ เพราะจากประสบการณ์ตรงในการลงพื้นที่ของเราชาวทีมงานคู่หูเดินทาง ไปหาประสบการณ์มาจากใน หลายๆ ที่ พบว่าหน้าฝนนั้นก็มีเสน่ห์ที่ชวนหลงใหลในบรรยากาศเย็นนิดๆ ชื้นหน่อยๆ พองาม กับท้องฟ้าสายฝนที่บางครั้งอาจจะทำให้รู้สึกเหงาๆ เคล้าโรแมนติกอยู่ไม่น้อย

จังหวัดน่านก็เป็นเพชรงามเม็ดหนึ่งในภาคเหนือ ที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาและป่าเขียวอันสลับซับซ้อน ยิ่งถ้าได้ไปเยือนในยามนี้ ที่เราเรียกว่า ปลายฝนต้นหนาวแล้ว ก็ไม่ต่างจากการได้ไปพบกับเมืองลับแลที่น่ารักกลางหุบเขาคลุมสายหมอก ซึ่งรับรองได้ว่า สำหรับคนที่ค้นหาเมืองน่ารัก บรรยากาศสงบ ยังมีครบสำหรับวัฒนธรรมท้องถิ่น ฝืนป่า ขุนเขา ชนเผ่าโบราณ ฯลฯ ‘น่าน’ คือคำตอบของความลงตัวที่พอเหมาะครับ

ฉบับนี้เป็นฉบับครบรอบก้าวสู่ปีที่ 6 ของนิตยสารคู่หูเดินทาง เราภูมิใจนำเสนอมนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลของเมืองน่าน กับศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานสมัยล้านนา ในเขตกำแพงเมืองน่าน ซึ่งเป็นของล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง อันเป็นเอกลักษณ์ศิลปะเมืองน่านขนานแท้อยู่หลายแห่ง การได้มาเที่ยวชมวัดวาอาราม เปรียบเสมือนการได้ย้อนเวลาหาอดีต ชมงานศิลปะชิ้นเอกที่มีความปราณีตวิจิตรบรรจงของคนยุคก่อน แฝงไว้ซึ่งเรื่องราวชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในแต่ละสมัย อีกทั้งยังได้ความสงบ ร่มเย็น และสบายใจเมื่อเราได้เข้ามาอยู่ใกล้กับพระพุทธศาสนามากขึ้น

วัดภูมินทร์ 

วัดนี้เป็นวัดหลวง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เดิมในสมัยโบราณชื่อว่า วัดพรหมมินทร์ ตามพระนามของพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่าน ในช่วงปี พ.ศ. 2139 ซึ่งเป็นผู้สร้าง แต่ภายหลังชื่อนี้ได้เพี้ยนมาตามกาลเวลา จนเป็นชื่อ วัดภูมินทร์ อย่างในปัจจุบัน จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือ วิหารจตุรมุขเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างให้คล้ายกับคร่อมอยู่บนตัวพญานาคปูนปั้น 2 ตัว เป็นงานสถาปัตยกรรมล้านนาแบบพิเศษ ที่มีความงดงามอยู่อย่างลงตัว โดยนำโบสถ์และวิหารมาสร้างรวมเข้าเป็นอาคารเดียวกัน รูปจัตุรมุข มีบันได และประตูออกทั้งสี่ทิศ ที่ราวบันไดเป็นปูนปั้นรูปพญานาค หันเศียรนาคขึ้นสู่เบื้องบน ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน บ่ายพระพักตร์สู่ประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ เบื้องหลังพระปฤษฎางค์เป็นฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง เป็นอาคารที่ออกแบบไว้ให้เป็นอาคารอเนกประสงค์ คือ ด้านตะวันออก-ตก ถือว่าเป็นพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชา ทางด้านเหนือ-ใต้ ถือว่าเป็นพระอุโบสถใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และยังถือว่าโดยรวมแล้วอาคารหลังนี้คือเจดีย์ประธานกลางลานวัดอีกด้วย แต่สิ่งที่พิเศษโดดเด่นจนทำให้วัดแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คของเมืองน่านเลย ก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถแห่งนี้ ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2410 หรือปลายรัชกาลที่ 4 ในช่วงที่วัดนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เป็นภาพชาดกในพุทธศาสนา แต่สอดใส่รายละเอียดของวิถีชีวิตผู้คนในสมัยนั้น ทั้งคนเมือง ทั้งชนเผ่า เช่น ชาวไทลื้อ เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงศิลปะ ประเพณี ชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น การค้าขาย การแต่งกาย การใช้ชีวิตในสมัยก่อน ฯลฯ โดยเฉพาะภาพหนุ่มสาวคู่หนึ่งกระซิบบอกอะไรกัน ที่เรียกกันว่าภาพ ปู่ม่าน ย่าม่าน นั้น ถือว่าเป็นภาพมาสเตอร์พีซทางศิลปะหนึ่งเดียวที่งดงามลงตัวของการใช้เส้นและสีที่ได้รับการยกย่องว่าล้ำสมัยมากอย่างน่าประหลาด เพราะการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้ม เป็นปื้นใหญ่ๆ ระบายลงไปจนดูคล้ายพื้นผิวของผ้าฝ้ายที่ชาวน่านทอสวมใส่นั้น ดูเหมือนเทคนิคการวาดภาพสมัยใหม่มาก มีการคัดลอกภาพนี้เผยแพร่ไปทั่ว ไม่ว่าจะบนสื่อสิ่งพิมพ์ เสื้อผ้าอาภรณ์ ของที่ระลึกต่างๆ ทำให้ภาพนี้ติดตาจนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดน่านเลยทีเดียว

คำว่า “ม่าน” แปลว่า พม่า ปู่หมายถึงผู้ชายหนุ่ม และคำว่า ย่าหมายถึงหญิงสาว คำว่า “ปู่ม่าน ย่าม่าน” จึงหมายถึง “ชายหญิ่งชาวพม่า” นั่นเอง ไม่ใช่คำสรรพนามที่เราใช้เรียกปู่ ย่า ตา ยาย แต่อย่างใด จิตกรรมฝาผนังชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นโดย หนานบัวผัน หรือ ทิดบัวผัน สล่าชาวไทลื้อ

มีคำบอกเล่าเกี่ยวพญานาคหน้าวัดว่า หากใครได้มาลอดใต้ท้องพญานาคที่วัดนี้แล้ว เป็นอันว่าจะต้องได้กลับมาเยือนเมืองน่านอีกครั้งเป็นแน่แท้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะครับ เพราะผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยได้ลอดใต้ท้องพญานาคที่นี่มาแล้วเช่นกัน

วัดมิ่งเมือง

ตั้งอยู่ที่ ถ.สุริยพงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นด้านนอกที่ผนังพระอุโบสถ เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสนภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงาม และภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจัตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถ สูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงลักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร 

ตั้งอยู่บน ถ.สุริยพงษ์ ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เดิมเรียก วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเวียง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1949 สำหรับเจ้าผู้ครองนครน่านใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2091 ในสมัยของ พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่าน สถาปัตยกรรมของวัดนี้ได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบสุโขทัยอย่างชัดเจน เช่น มีเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง ฐานองค์เจดีย์มีปูนปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้ง 4 อีก 4 เชือก ดูคล้างเอาหลังหนุนค้ำเจดีย์เบื้องบนไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้นั่นเอง ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายกับวัดช้างล้อมที่จังหวัดสุโขทัยมาก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ สูง 145 เซ็นติเมตร เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 เป็นอย่างสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎกที่ผู้สร้าง มีศิลปะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วัดหัวข่วง 

ตั้งอยู่ใกล้หอคำ หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน มีวิหาร และเจดีย์ มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน ฝีมือประณีตงดงาม วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราว พ.ศ. 2425  โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาราวปี พ.ศ. 2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่าน องค์สุดท้าย วัดนี้มีวิหารที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นอาคารทรงจั่ว โดดเด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษาที่ประณีตงดงาม ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาดแบบศิลปะตะวันตก เป็นวิหารผีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์ นอกจากนี้ในวัดยังมีหอไตรเก่าลักษณะคล้ายวิหาร แต่มีขนาดเล็ก หน้าบันและฝาชั้นบนประดับลายสลักสวยงาม ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์ เจดีย์วัดหัวข่วง เป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง ศิลปะล้านนา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ลักษณะของรูปทรง โดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี ที่เชียงใหม่

วัดศรีพันต้น 

ตั้งอยู่ที่ ถ.เจ้าฟ้า ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตเทศบาลเมืองน่าน สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 – 1969  บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ เพราะในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด แต่ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว ภายในวัดมีวิหารที่สวยงามตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพระยานาค ที่เฝ้าบันไดหน้าวัด ดูอ่อนโยนมีชีวิตชีวาซึ่งปั้นแต่งโดยช่างชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ “สล่ารง” และภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน อันเป็นภาพเขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง วัดศรีพันต้นเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่ครูชันทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีพันต้นซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีวิชารักษาคนป่วยด้วยการเป่าคาถาเสกน้ำมนต์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษาได้ผลดีมากโดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนอง ตลอดชีวิตของหลวงปู่ครูบาชันทะ ท่านได้เมตาไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่านเป็นประจำทุกวัน จนถึงแก่มรณะภาพ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน 

ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า หอคำ โดยเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อ พ.ศ.2446 นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย กรมศิลปากรได้รับมอบเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2517 แล้วจึงนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่น มาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบและระเบียบสวยงาม คือ ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนา เช่นลักษณะอาคารบ้านเรือนและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น การแข่งเรือ จุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น ที่น่าสนใจในการจัดแสดงห้องโถงข้างล่างนี้ ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และโบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่านที่สำคัญที่สุดได้แก่ ห้องเก็บ งาช้างดำ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุง ตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมหอคอย ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายมนมีจารึกอักษรธรรมล้านนากำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. วันพุธ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมท่านละ 20 บาท โทร. 0-5471-0561

วัดน้อย (ใต้ต้นโพธิ์ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน

วัดนี้เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นวัดเล็กที่สุดในประเทศไทย เพราะดูจากขนาดและรูปทรงแล้ว แทบไม่ต่างจากศาลพระภูมิเลย จากเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 ได้กราบบังคมทูลจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกินจำนวนไป 1 วัด จึงได้เร่งสร้างวัดน้อยนี้ขึ้นมาเพื่อให้ครบตรงกับจำนวนที่ได้กราบทูลไป มีหลักฐานว่าพระองค์เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416 ดังนั้น วัดน้อยจึงน่าจะสร้างหลังจากนั้นไม่นาน วัดน้อยดังกล่าวนี้มีขนาดกว้าง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร สูง 3.35 เมตร เป็นรูปแบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายใน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่เคยปรากฎหลักฐานว่าเคยมีการสร้างกุฏิพระภิกษุจำพรรษาอยู่ในบริเวณวัดน้อยนี้ หรือมีการประกอบศาสนกิจใดๆ

ฉบับนี้เราขอจบทริปเที่ยวตัวเมืองน่านเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับแต่ความน่าสนใจของน่านยังไม่หมดครับ เพราะในฉบับหน้าเราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับอีกอำเภอหนึ่งของเมืองน่านนั่นคืออำเภอเวียงสาซึ่งเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีความน่าสนใจ เราจะพาคุณผู้อ่านไปดูชีวิตที่เปลี่ยนไปของชนเผ่าผีตองเหลือง ว่าในปัจจุบันเค้ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว 

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกและใช้ทางหลวงหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง 

มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ไปจังหวัดน่านทุกวัน สอบถามข้อมูลและตารางเดินรถได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

 3,583 total views,  2 views today

Comments

Share.

Leave A Reply

Exit mobile version