ภัยใกล้ตัว
 
 

มันมากับเทศกาล
 

      

    

       'มัน' ที่ว่า... หาใช่ไอ้ตัวร้อยขาที่ชอบเลื้อยออกมาทักทายเราตามท่อประปาช่วงฤดูร้อน และมันก็ไม่ใช่เจ้าตัวสงกรานต์สีรุ้งเรืองรองที่หาเห็นได้ยากเต็มทน เพราะ ‘มัน’ ที่เรากำลังหมายถึงคือ 'เหล่าวายร้าย' ที่ชอบแฝงกายมากับเทศกาลรื่นเริงและการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลมหาสงกรานต์

       ในช่วงที่โลกกำลังผจญกับวิกฤตเศรษฐกิจอันแสนสาหัส ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมโลกย่อมโดดหนีสภาวะเช่นนี้ เพื่อเอาตัวรอดเพียงลำพังไม่ได้ (แม้จะแอบอยากอยู่ก็ตาม...) ด้วยเพราะเศรษฐกิจระบบทุนนิยมที่เหนี่ยวเนื่องกันไปทั่วโลกนั้น ทุกภูมิภาคย่อมมีพันธะทางเศรษฐกิจผูกพันร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศระดับมหาอำนาจตกต่ำอย่างสุดขีด ประเทศกระจ้อยร่อยอย่างเราจึงมีอันต้องถูกลากลึกลงเหวตามไปด้วย และก็เป็นอย่างที่หลายคนว่า เศรษฐกิจไม่ดีมักคู่กับการผุดสะพรั่งของหมู่โจร ขโมย และเหล่ามิจฉาชีพ ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวประเภทฉกชิงวิ่งราว ที่กำลังทบทวีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ รูปแบบของภัยร้ายประเภทนี้ มีตั้งแต่การเสียทรัพย์ระดับเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงขั้นการปล้น-ฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ ว่ากันว่าช่วงไพร์มไทม์ (Prime time) หรือช่วงทองของการลงมือกระทำความผิดลักษณะนี้ มีรูปแบบที่คล้ายๆ กัน คือ หนึ่ง เลือกลงมือในช่วงปลอดคน ช่วงที่ผู้คนเดินทางออกจากที่อยู่อาศัย หรืออาคารสำนักงาน เป็นเวลาหลายๆ วัน  ภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพพวกนี้ส่วนใหญ่มักเป็นการย่องเบา งัดแงะ ขโมย ลักทรัพย์ หรือกระทำการในลักษณะอื่นๆ ที่ประสงค์ต่อทรัพย์สินซึ่งอยู่ภายในอาคารสถานที่เหล่านั้น สอง เลือกลงมือในช่วงเวลาที่ผู้คนพลุกพล่าน เบียดเสียด แย่งกันกินแย่งกันเดินทาง ภัยจากเหล่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้ มักอยู่ในลักษณะของการฉกชิงวิ่งราว รูดทรัพย์ ตกทอง มอมยา ล่อลวง หรือพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งประสงค์ต่อทรัพย์สิน และร่างกายของเหยื่อโดยตรง

วิธีระมัดระวังหรือป้องกันตัวจากภัยร้ายที่มักแฝงตัวมาในช่วงเทศกาล

  1. ก่อนออกเดินทางจากที่อยู่อาศัยหรืออาคารสำนักงานในช่วงวันหยุดยาว ควรตรวจสอบระบบปิดล็อคตามจุดต่างๆ ภายใน และภายนอกอาคารให้ละเอียดและมั่นใจได้ว่า ทุกจุดอยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. แจ้งกับเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านหรือชุมชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ในโครงการ 'ฝากบ้านไว้กับตำรวจ' ถึงกำหนดการเดินทางไปและกลับที่ชัดเจน เพื่อให้ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลให้ระหว่างที่เรากำลังเดินทาง
  3. หากเป็นการเดินทางเพื่อไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัด ควรตรวจสอบเส้นทางให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำพาหนะไปเองหรือจะเป็นการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ หลีกเลี่ยงการเดินทางแบบไร้จุดหมาย ไร้ทิศทาง หรือไม่มีการวางแผน เพราะนั่นอาจทำให้ท่านมีโอกาสพบกับความผิดพลาดทั้งในเรื่องของเวลา เส้นทางที่จะไป สถานที่พักแรม ตลอดจนอาจโชคร้ายพบกับกลุ่มมิจฉาชีพเข้า
  4. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปกับกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งนอกระบบ อาทิ รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร ตลอดจนพาหนะอื่นๆ ที่ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตรองรับ เพราะนั่นอาจทำให้ท่านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย และหากเกิดเหตุร้ายใดๆ เป็นเรื่องยากที่จะติดตามตัวคนร้ายหรือผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
  5. ไม่ควรรับสิ่งของหรือรับฝากวัตถุใดๆ จากบุคคลที่ท่านไม่รู้จักระหว่างการเดินทาง เนื่องจากสิ่งของเหล่านั้นอาจเป็นวัตถุอันตรายหรือสิ่งผิดกฎหมายได้
  6. ไม่ควรดื่มหรือรับประทานอาหารจากบุคคลที่ท่านไม่รู้จัก หรือสนิทสนมขณะเดินทาง เพราะไม่มีทางทราบได้เลยว่า เครื่องดื่มหรืออาหารเหล่านั้นผสมสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และระบบการควบคุมต่างๆ ภายในร่างกายหรือไม่ ควรหาประโยคหรือคำปฏิเสธอย่างสุภาพ เตรียมไว้หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ลักษณะนี้
  7. หลีกการร่วมเล่นกิจกรรมพนันขันต่อต่างๆ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีให้เห็นมากมายในช่วงเทศกาล นั่นอาจทำให้ท่านตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างพฤติกรรมลักษณะนี้ที่พบบ่อยๆ คือ แก๊งไฮโล โปปั่นต่างๆ ที่มักรวมหัวกันหลอกล่อให้นักท่องเที่ยว หลงคิดว่าหากร่วมแทงพนันชนิดนั้นแล้ว จะทำให้ได้กำไรคืนมาแบบง่ายๆ แต่ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยผู้ที่เป็นเหยื่อมักถูกโกงจนหมดตัวแทบทั้งสิ้น
  8. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปตามเส้นทางเปลี่ยวๆ ในยามค่ำคืน เนื่องจากแก๊งมิจฉาชีพมีรูปแบบที่จะทำให้ท่านลงจากพาหนะได้หลายวิธี ยกตัวอย่าง.. หากเกิดกรณีมีรถแล่นมาเฉี่ยวชนกับท่านในทางเปลี่ยวอย่างผิดสังเกต ควรหลีกเลี่ยงการหยุดรถลงไปดูในที่มืด พยายามขับหาปั๊มน้ำมันหรือชุมชนที่มีผู้คนสัญจร จากนั้นให้รีบแจ้งบริษัทประกันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ช่วยดำเนินการต่อไป
  9. ควรจดจำหรือบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินสำคัญๆ สำหรับการเดินทางไว้ในเครื่องรับโทรศัพท์ส่วนตัว อาทิ สายด่วนตำรวจนครบาล, ตำรวจทางหลวง, หน่วยกู้ภัย และบริษัทประกันภัย เป็นต้น
  10. สำหรับคุณผู้หญิงควรหาสเปรย์พริกไทยแบบพกพาติดตัวไว้ระหว่างการเดินทาง แม้พิษสงของมันจะไม่ทำให้คนร้าย หรือมิจฉาชีพถึงกับบาดเจ็บสาหัส แต่มันก็สามารถทำให้คนเหล่านั้นหยุด ชะงัก หรือสูญเสียการมองเห็นลงได้ชั่วขณะ ซึ่งมีเวลาพอที่เราจะรีบหลบหนี หรือร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

       อันที่จริงกลุ่มมิจฉาชีพยังมีวิธีการต่างๆ นาๆ อีกร้อยแปดพันประการ ที่มุ่งต่อทรัพย์สินทั้งในตัวเรา ที่อยู่อาศัย ตลอดจนร่างกายของเรา คงเป็นเรื่องยากหากจะหาวิธีป้องกันที่สมบูรณ์แบบหรือได้ผล 100% สิ่งหนึ่งที่จะสามารถบรรเทาเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี คือการช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งที่ผิดปรกติให้กับบุคคลใกล้ตัว ตลอดจนผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกับท่าน หากมีอันต้องประสบกับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่าทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เหล่ามิจฉาชีพได้ใจที่จะก่อเหตุซ้ำ ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าท่านอาจต้องประสบกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ด้วยตัวเอง



 
 
 

Copyright © นิตยสารคู่หูเดินทาง / MJ Media Company Limited