จากการสำรวจในปัจจุบันทั่วโลกพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งโรคนี้เป็นกลุ่มอาการที่เซลล์ประสาทเสื่อม ทำให้ผู้คนต้องสูญเสียหน้าที่การทำงานอย่างเรื้อรัง อายุยิ่งมากยิ่งพบมาก ทำให้ความจำเสื่อม มีพฤติกรรมและบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ล่าสุดใน พ.ศ. 2551 – 2552 พบผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม 12% และข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (nih) ได้ประมาณการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย โดยโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง สาเหตุใหญ่ในไทยพบว่าประมาณ 60% สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดแข็ง ตีบ ตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นมักเป็นผลพวงจากโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาทั้งตัวของผู้สูงอายุและผู้ดูแล ทำให้เกิดความเครียด ความกังวล คุณภาพชีวิตที่ลดลง และมีผลถึงสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ด้วยความเจริญของเครื่องมือเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้หลายฟังก์ชันในชิ้นเดียว อาจทำให้เกิดผลเสียที่คาดไม่ถึงและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ ใช้เครื่องคิดเลขในโทรศัพท์หรือเครื่องคิดเลขคิดแทนการใช้สมองคำนวณ โดยเฉพาะใช้ตั้งแต่วัยเด็ก มีผลทำให้สมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาเสื่อมตามมา ดังนั้นลองวางอุปกรณ์และเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ไว้ข้างตัวดูบ้าง ให้สมองได้ฝึกคิดและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันปัญหาสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร  
ข้อมูลจาก: สสส.

 1,256 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version