คนเมืองหลายคนคงโหยหา… อยากไปสัมผัสชีวิตสโลว์ไลฟ์ นอนมองท้องฟ้า นั่งดูทุ่งนาสีเขียว ลมพัดโชยพอให้สบายกาย พักสมองจากเรื่องวุ่นวายรอบตัว… เที่ยวง่าย กินง่าย นอนง่าย แถมอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น” ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว
บางครั้งการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก เพียงนำตัวเราไปอยู่ในวิถีชีวิตของเขา เรียนรู้การกินอยู่พักผ่อนนอนหลับใต้ฟ้าหลังคาเดียวกับเจ้าของบ้าน หรือ ที่เรียกกันว่า “โฮมสเตย์” ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ เค้ากินอะไรเราก็กินอย่างนั้น เค้านอนแบบไหนเราก็นอนแบบนั้น เรียนรู้วิถีชีวิตในท้องถิ่น ชมการทอผ้าใต้ถุนบ้าน การทำตุ๊กตาบาร์โหน การทำขนมข้าวเม่าตบปาก ชมและช้อปการทำผ้าหมักโคลนสีสันจากธรรมชาติ พร้อมทดลองทำข้าวเปิ๊ปอาหารอร่อยขึ้นชื่อประจำถิ่น ยามเย็นแดดร่มลมตกก็ปั่นจักรยานตามมัคคุเทศก์น้อยไปชิมผลไม้ตามฤดูกาลสดๆ จากต้น และปิดท้ายด้วยการปั่นชมทุ่งนายามเย็น… พูดเลย “มันดีต่อใจและกายมากๆ”

บ้านนาต้นจั่น ตั้งอยู่ในตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนในเชิงอนุรักษ์ บ้านนาต้นจั่นนั้นเป็นชุมชมดั้งเดิม อพยพมาจากเมืองเหนือและเมืองลับแล ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเหนือ ในสมัยก่อนชาวบ้านจะนิยมปลูกต้นจั่นไว้ในนาจำนวนมาก นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านนาต้นจั่นนั่นเอง
โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ก่อตั้งขึ้นโดย คุณแม่เสงี่ยม แสวงลาภ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่น เมื่อประมาณ 14 ปีที่แล้ว หลังจากการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเกิดไอเดียว่าการท่องเที่ยวแบบนี้บ้านเราก็น่าจะทำได้ ท่านจึงเป็นตัวตั้งตัวตีต่อสู้ฝ่าฟันทุกอุปสรรค จนวันนี้บ้านนาต้นจั่นได้รับรางวัลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากมายหลายรางวัล และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีโฮมสเตย์ที่เข้าร่วมกลุ่มอยู่ 18 หลัง เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันต้อนร้บนักท่องเที่ยว
การมาพักที่นี่สามารถมาค้างกี่วันก็ได้ ติดต่อที่คุณแหม่ม ผู้จัดการโฮมสเตย์ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น โทร. 08 8495 7738 แต่ปกติจะมีโปรแกรมมาตรฐานอยู่ที่ 2 วัน 1 คืน ให้เข้าที่พักได้ในช่วงเวลาบ่าย 3 โมง อัตราค่าบริการ 1-2 ท่าน ท่านละ 600 บาท/คน/คืน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 250 บาท และ 3 ท่านขึ้นไป 500 บาท/คน/คืน (ราคานี้รวมค่าอาหารเย็น อาหารเช้า ที่พักหนึ่งคืน และกิจกรรมชมเที่ยวในหมู่บ้าน โดยเจ้าของบ้านโฮมสเตย์จะเป็นคนพาเที่ยวชม) คุ้มสุดคุ้ม!!!
และถ้าใครอยากชมวิวสวยๆ ยามเช้าของขุนเขาและทะเลหมอกที่จุดชมวิวห้วยไฮ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มต่างหาก คือ 450 บาท/หลัง (หลังละไม่เกิน 8 ท่าน) รวมค่ารถและค่าไกด์เรียบร้อยแล้ว
คู่หูเดินทางพามาเที่ยวครั้งนี้ จะนอนเพียง 1 คืนเห็นทีจะเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด เราเลยขอใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์พักไป 3 วัน 2 คืน ชิลล์ๆ

วันแรกเราเดินทางมาถึงที่โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ประมาณเกือบ 4 โมงเย็น ตอนเที่ยงคุณ ภรณ์ เจ้าของโฮมสเตย์วราภรณ์ ได้โทรมาแนะนำตัว และแจ้งว่าคืนนี้พวกเราต้องนอนพักที่บ้านหลังนี้ และสะดวกจะทานอาหารเย็นเมนูที่แจ้งไว้หรือไม่ หรือต้องการให้ปรับเปลี่ยนเป็นเมนูไหนก็ยินดี นี่คือความประทับใจแรกตั้งแต่ยังไปไม่ถึง รู้สึกว่าทางโฮมสเตย์ให้ความใส่ใจกับลูกค้ามาก และพอไปถึงก็ยืนรออยู่หน้าบ้าน รับของขึ้นห้องพัก จัดเตรียมน้ำและผลไม้ไว้รอต้อนรับพร้อม
ประมาณหกโมงครึ่งก็ยกสำรับเย็นขึ้นมาให้ เสิร์ฟแบบขันโตก มีน้ำเย็นใส่ไว้ในขันใบใหญ่โรยดอกมะลิหอมชื่นใจ อาหารเย็นมื้อแรกมีด้วยกัน 5 อย่าง เริ่มที่ “น้ำพริกซอกไข่” เป็นเมนูพื้นบ้าน คำว่า “ซอก” เป็นภาษาถิ่นแปลว่า “การตำเบาๆ” เครื่องปรุงก็จะมีพริกแห้งกับกระเทียม ปรุงรสด้วยน้ำปลาและมะนาว จากนั้นใส่ไข่ต้มที่ฝานผ่าซีกลงไป แล้วตำหรือคนเบาๆ พอให้น้ำพริกซึมเข้าเนื้อไข่ เสิร์ฟพร้อมผักสดและผักต้มปลอดสารในสวนหลังบ้านของคุณภรณ์นี่แหละ นอกจากนี้ก็จะมีปลาทับทิมทอด ต้มจืดฝัก ผัดฟักทองและลาบหมู อร่อยเด็ดทุกจาน … กินอิ่ม นอนหลับ พักผ่อนกายา พรุ่งนี้เช้าตอนตีสี่ครึ่งเรานัดไกด์ให้มารับพาไปชมทะเลหมอกยามเช้า ณ จุดชมวิวห้วยไฮ

การไปจุดชมวิวห้วยไฮนั้นต้องนั่งรถไปก่อนประมาณ 3.5 กิโลฯ จากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก 850 เมตร เพื่อขึ้นไปยังจุดชมวิว เดินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเร่งรีบ มีจุดแวะนั่งพักเป็นระยะ แต่เดินตอนเช้ามืดก็อาจจะลำบากสักหน่อย เพราะมองทางไม่ค่อยชัด ไกด์ก็จะช่วยส่องไฟนำทางเป็นแนวให้เราเดินง่ายขึ้น แต่พอขึ้นไปถึงก็เกือบสว่าง นั่งรอสักพักพระอาทิตย์ก็ขึ้นพอดี
ทีเด็ดของการขึ้นมาจุดชมวิวห้อยไฮ นอกจากการได้สัมผัสความสวยงามของภูเขาและสายหมอกแล้ว การได้ดื่มกาแฟหรือโอวัลตินร้อนๆ และอาหารญี่ปุ่น (มาม่าต้ม) จากกระบอกไม้ไผ่สดๆ นี่ฟินมากๆ เลย พอเราเดินขึ้นมาถึงจุดชมวิวพี่ไกด์ก็จะไปก่อไฟเพื่อต้มน้ำ หลังจากนั้นก็จะไปตัดไม้ไผ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนนำมาทำเป็นแก้วน้ำและช้อน รวมถึงแยกอีกชุดเพื่อทำเป็นกระบอกใส่มาม่าต้ม พร้อมตะเกียบและหลอดดูด ที่ทำกันแบบสดๆ ใหม่ๆ ได้กลิ่นหอมของไม้ไผ่ยามยกดื่ม ตอนเดินขึ้นและลงเราก็จะได้เห็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ คือการเดินเก็บเห็ดระหว่างทางเพื่อนำไปทำกับข้าว เรียกว่า ชีวิตดี๊ดี ได้กินอาหารแบบปลอดสารพิษ แถมไม่ต้องปลูก เพราะเห็ดพวกนี้จะขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ต้องดูเป็นด้วยนะว่าเห็ดไหนกินได้ เห็ดไหนกินไม่ได้!
บนจุดชมวิวห้วยไฮนี้สามารถขึ้นมานอนกางเต้นท์ได้ เผื่อใครอยากเห็นวิวทั้งยามพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก แต่ต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเช่นกัน
เราลงมาจากจุดชมวิวถึงบ้านวราภรณ์โฮมสเตย์ตอน 9 โมงเช้า เพราะมัวแต่ถ่ายรูปจนเพลิน คุณภรณ์ยกสำรับขึ้นมาจัดเตรียมไว้พร้อม เช้านี้เราทานน้ำพริกอ่องกับผักสด ไข่ต้ม หมูทอด ผัดบวบใส่ไข่ และต้มยำไก่ ตบท้ายด้วยผลไม้ ลองกอง เงาะและกล้วยไข่ จากนั้นก็อาบน้ำเตรียมตัวออกสำรวจกิจกรรมวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านนาต้นจั่น พร้อมเก็บข้าวของเพื่อเตรียมตัวย้ายบ้านพัก คืนนี้เรานอนที่ “บ้านสวนตาเตียม”

จุดแรกที่เราแวะคือ ชมการสาธิตการทำตุ๊กตาบาโหน ภูมิปัญญาบ้านตาวงศ์ โดยคุณตาวงค์ เป็นผู้คิดค้นริเริ่ม ปัจจุบันคุณตาได้เสียชีวิตแล้ว และได้ลูกชายมาสืบทอดงานไม้อันมีเอกลักษณ์นี้ไว้ และได้ประยุกต์เพิ่มสีสันลวดลายหน้าตาของตุ๊กตาให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ตุ๊กตาบาร์โหนเป็นเครื่องบริหารมือ โดยการบีบด้ามไม้ทั้งสองข้างเข้าหากัน ตัวตุ๊กตาก็จะสลับแขนขายกขึ้นลงได้ทั้งหมด 12 ท่า เหมาะแก่การซื้อไปฝากคุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีอาการนิ้วล๊อค เส้นเอ็นมือแข็งตึงขยับลำบาก สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 200 บาท ทำจากไม้สัก เป็นงานแฮนด์เมดล้วนๆ ที่สำคัญมีประโยชน์เพราะนอกจากจะได้บริหารมือแล้วยังได้สนุกในการเปลี่ยนท่าทางของตุ๊กตาด้วย

จากนั้นไป ชมการทอผ้าใต้ถุนบ้าน ปกติอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือ การทำไร่ ทำนา และทำสวน ปลูกผักและผลไม้ แต่พอหมดหน้าเก็บเกี่ยวก็จะมาทอผ้าเป็นอาชีพเสริม โดยบ้านแต่ละหลังก็จะมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน ชมการทอผ้าและการกระตุกกี่ที่พูดเลยว่างานนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะใช้ทั้งมือและเท้าทั้งสองข้างทำงานร่วมกัน เมื่อทอเสร็จก็จะนำไปส่งที่ศูนย์กลางชุมชนผ้าหมักโคลน เพื่อนำไปหมักโคลนและจำหน่ายต่อไป
ก่อนออกเดินทางต่อไปชมการสาธิตและชมผลิตภันฑ์ผ้าหมักโคลน พอดีบ้านคุณป้าบ้านฝั่งตรงข้ามกำลังขะมักเขม่นหยิบขนมใส่ถุงกัน เราเลยได้มีโอกาสชิมและซื้อกลับมาด้วย ถุงละ 10 บาท เรียกว่า “ขนมข้าวเม่าตบปาก” เป็นของกินเล่นตั้งแต่สมัยก่อน คุณยายเจ้าของสูตรเล่าให้เราฟังว่า มันจะคล้ายๆ กับขนมกระยาสารท แต่ขนมกระยาสารทจะแข็งและเหนียวกว่า อันนี้จะทำแบบล้วนๆ สามารถนำมาวางในอุ้มมือแล้วตบเข้าปากทานได้เลย รสชาติอร่อยหอมหวาน แถมมีชิ้นเนื้อมะพร้าวหั่นบางๆ เพิ่มความอร่อยอีกด้วย

สัมภาษณ์คุณยายเสร็จสรรพก็มุ่งหน้าต่อไปที่ศูนย์กลางชุมชนผ้าหมักโคลน เพื่อชมการสาธิตการทำผ้าหมักโคลน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ติดไม้ติดมือมาฝากคุณแม่ที่บ้าน
“ผ้าหมักโคลน” หนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นของชาวบ้านนาต้นจั่น โดยมีจุดเริ่มต้นจากการสังเกตของชาวบ้านในสมัยก่อนว่าเวลาใส่ผ้าถุงหรือกางเกงลงไปทำนา เมื่อนำผ้ามาซักจะสังเกตเห็นว่าผ้าส่วนล่างที่โดนโคลนจะมีลักษณะที่นิ่มและสีเข้มทึบขึ้นกว่าผ้าส่วนบนที่ไม่โดนโคลน จากนั้นจึงได้ลองนำผ้ามาหมักโคลน และเห็นถึงความสวยงาม นุ่มมือ จึงเกิดเป็นภูมปัญญาท้องถิ่นจวบจนปัจจุบัน… “ผ้าหมักโคลนหนึ่งเดียวในโลก”
ขั้นตอนการทำคือ นำผ้าฝ้ายที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้วไปหมักโคลนทิ้งไว้หนึ่งคืน โดยโคลนที่หมักก็คือโคลนตามท้องไร่ท้องนาในหมู่บ้านนาต้นจั่นนี่แหละ จากนั้นนำไปซักจนกว่าน้ำจะใส จะได้เนื้อผ้าที่นุ่มขึ้น แล้วนำไปย้อมทับด้วยสีจากธรรมชาติ ซึ่งแต่ละสีจะได้มาจากเปลือกไม้ ใบไม้ หรือดอกไม้ อาทิ ใบต้นจั่นให้สีเขียวอ่อน ใบสะเดาให้สีเขียว แก่นขนุนให้สีเหลืองอมเขียว เปลือกมังคุดให้สีม่วง ลูกมะเกลือให้สีดำ ไม้เพกาให้สีเหลืองใบไผ่ ไม้ฝางให้สีแดงอมฝาด เป็นต้น ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง และจะต้องใส่เกลือลงไปเพื่อไม่ให้สีตก และใส่ผงซักฟอกเพื่อไม่ให้ผ้าหดตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของชาวบ้านแห่งนี้

ด้านหน้าบริเวณศูนย์กลางชุมชนผ้าหมักโคลนจะเป็น “ร้านข้าวเปิ๊บล้มยักษ์” อาหารพื้นถิ่นแสนอร่อย ข้าวเปิ๊บหรือที่รู้จักกันในชื่อก๋วยเตี๋ยวพระร่วง มาแล้วต้องลอง น้ำซุปเข้มข้น หวานน้ำต้มกระดูกหมู วิธีการทำเหมือนข้าวเกรียบปากหม้อ แต่แผ่นใหญ่กว่าใส่ไส้ด้วยวุ้นเส้น กะหล่ำ และผักบุ้ง ห่อพับไปพับมา ตักใส่ชาม ใส่เครื่องและน้ำซุป รสชาติอร่อย หวานน้ำต้มกระดูกหมู คำว่า เปิ๊บ คือการพับ ส่วนคำว่า ล้มยักษ์ก็คือการเสิร์ฟชามใหญ่ และถ้าใครทานหมดก็ถือว่าล้มยักษ์ได้ นี่จึงเป็นที่มาของชื่ออาหารเมนูนี้ มาแล้วต้องลอง ไม่อย่างนั้นเหมือนมาไม่ถึงบ้านนาต้นจั่นนะ นอกจากนี้ยังมีเมนูทานเล่นอย่าง ข้าวพันไข่ ข้าวพันน้ำหมู และข้าวพันพริก ทานคู่กับน้ำจิ้มก็อร่อยไปอีกแบบ
หนังท้องตึงหนังตาหย่อนจบทริปการพาเที่ยวของโฮมสเตย์วราภรณ์เป็นที่เรียบร้อย ไม่นานคุณตาเตียมก็มารับเราเข้าที่พักเพื่อเก็บข้าวของสัมภาระและนอนหลับพักผ่อนเอาแรงสักครู่ เพราะสี่โมงเย็นเรามีนัดกับมัคคุเทศก์น้อยพาขี่จักรยานเที่ยวชมทุ่งและชิมลองกองสดๆ จากต้น ค่าเช่าจักรยานคันละ 30 บาท… ดีงามสุดๆ

โฮมสเตย์บ้านสวนตาเตียม อยู่ห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลฯ อนุญาตให้ใช้ไฟได้ถึง 3 ทุ่ม เพราะด้วยความไกลยังไม่มีไฟฟ้ามาถึง จึงต้องพึ่งโซล่าเซลล์ ที่ในยามดึกจะมีไฟใช้แค่พอให้แสงสว่างยามเดินเข้าห้องน้ำเท่านั้น ที่แรกก็กลัวว่าจะร้อน แต่ที่ไหนได้อากาศเย็นสบายถึงกับต้องใช้ผ้าห่มช่วยเพิ่มความอบอุ่นกันเลยทีเดียว และถ้าใครติดโซเชียลฯ ขอบอกสัญญาณน้อยสุดๆ หรือแทบจะไม่มี เพราะถ้ามานอนที่นี่ก็คือการพักผ่อนของจริง มีความสุขและเพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบๆ ตัวเท่านั้น แต่ที่ทำให้เราประทับใจสุดๆ สำหรับการมานอนที่นี่นอกจากวิวแล้วก็คือการเสิร์ฟอาหารมื้อเช้านี่แหละ เพราะคุณตาเสิร์ฟมาในกระบอกไม้ไผ่ ที่ดูดีน่ารับประทานมากๆ แถมด้วยทุเรียนหมอนทองหนึ่งพูใหญ่ที่ปลูกไว้ในสวนของคุณตาเอง อาหารที่ดูง่ายๆ อย่างไข่เจียว น้ำพริกหนุ่ม ต้มยำปลาและปลาตะเพียนทอดกรอบ กลับเป็นเมนูที่เลิศรสเพราะอบอวนไปด้วยน้ำใจไมตรี และวิถีชีวิตที่ยากจะสัมผัสได้สำหรับคนเมือง
วิวหลักพันแต่จ่ายตังค์แค่หลักร้อย นี่เองคือความสุขเรียบง่ายที่คุณเองก็มาสัมผัสได้ “โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น” จังหวัดสุโขทัย ทริปที่จะทำให้คุณมีแต่รอยยิ้มและมิตรภาพกลับไปเต็มกระเป๋า

การเดินทาง
• รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงสายเอเชีย (32) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี เทื่อถึงอำเภอเมืองนครสวรรค์ ให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 117 ผ่านจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ผ่านอำเภอกงไกรลาศ สู่ทางหลวงหมายเลข 102 (อุตรดิตถ์ – ศรีสัชนาลัย) ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย เลี้ยวซ้ายแยกบ้านตึก เข้าบ้านนาต้นจั่น รวมระยะทางประมาณ 500 กม.

• รถโดยสารสาธารณะ
มีรถโดยสาร ของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เส้นทางกรุงเทพฯ – สุโขทัย ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ลงที่สถานีขนส่งศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วเหมารถสองแถวต่อมายังบ้านนาต้นจั่น

 

 8,459 total views,  4 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version