จังหวัดสิงห์บุรีเป็นเมืองทางผ่านที่บางครั้งเราอาจจะมองข้ามเสน่ห์ของจังหวัดนี้ที่แอบซ่อนอยู่ คู่หูเดินทางฉบับนี้จึงขอชวนคุณผู้อ่านไปหาสุขและสนุกแบบไปเที่ยวม้วนเดียวจบ กับหนึ่งวันดีๆ ที่จังหวัดสิงห์บุรี ที่เราการันตีว่ามีดีกว่าที่คุณคิดแน่นอน

เส้นทางความสุขของเราครั้งนี้ เริ่มต้นที่จากกรุงเทพฯ โดยใช้ถนนสายเอเชีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ตรงมาไม่ไกลจะเห็นป้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดสิงห์บุรี ก็เลี้ยวมาตามทางแล้วขับตรงไปเรื่อยๆ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เจอสี่แยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 3032 ทางไปอำเภอค่ายบางระจัน ขับตรงมาอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ตรงโค้งถนนพอดีจะเป็นที่ตั้งของจุดแวะแรก คือ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นวัดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระนอนจักรสีห์” พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ศิลปะสุโขทัย มีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว (47.42 เมตร) พระเศียรชี้ไปทางตะวันออก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดสิงห์บุรีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง

ด้านหน้าทางเข้าก่อนจะไปวิหารพระนอนจักรสีห์จะมีรูปจำลองสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ถัดมาด้านขวามือจะเป็นตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม ให้กราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นเดินมาตามทางเรื่อยๆ เพื่อเข้าไปกราบสักการะองค์พระนอนจักรสีห์ในวิหาร องค์พระมีสีทองสวยอร่ามงดงามมาก โดยรอบๆ องค์พระด้านหลังได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระนอนจักรสีห์ที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ในสมัยอดีตที่หาชมยาก รวมถึงธนบัตรสมัยก่อนที่มีคนบริจาคให้ทางวัดนำมาจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้ชมกันด้วย ที่สำคัญภายในวิหารยังมีพระแก้ว พระกาฬ พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้เป็นพระประธานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย

ใบบริเวณด้านหน้าวิหารจะมีพระนอนจักรสีห์องค์จำลอง สำหรับพุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้ บูชาดอกไม้ ธูป เทียน และปิดทององค์พระ เพราะด้านในวิหารอนุญาตให้เพียงกราบสักการะได้เท่านั้น

ภายในบริเวณวัดร่มรื่นเป็นที่ปฏิบัติธรรมและศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านพุทธศาสนาทั้งพระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่สนใจ

 

เมื่อกราบสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านขวามือของวัดจะเป็นที่ตั้งของ ตลาดวัดพระนอนจักรสีห์ หรือ ตลลาดต้องชม ซึ่งเปิดมานานกว่าสิบปีแล้ว และได้พัฒนาให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยชาวบ้านและคนในชุมชนจะนำสินค้าที่ผลิตเอง เช่น พืช ผัก ผลไม้ น้ำพริกผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด สินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋าถือ และของใช้ต่างๆ ที่นำมาจำหน่ายในราคาไม่แพง ผัก กำละ 5-10 บาท ฝักบัว กำละ 20 บาท ดอกไม้เตยหอม กำละ 20 บาท งานประดิษฐ์ที่สวยและมีคุณค่า ตรงกลางเป็นลูกมะกรูดช่วยดับกลิ่นด้วย เดินเล่นสนุก เพลินๆ ไม่ร้อน แต่หิ้วของเต็มไม้เต็มมือเลย สำหรับใครที่กำลังหิวข้าวเราขอแนะนำร้านป้าสมคิดข้าวแกง อยู่ด้านในท้ายตลาด มีทั้งขนมจีนน้ำยา ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ ต้มเลือดหมู แกงบอน แกงขี้เหล็ก พะแนงหมู ผัดหน่อไม้ ต้มพะโล้ ผัดเผ็ดปลาดุก มีให้เลือกไม่กี่เมนูแต่รับรองว่าอร่อยเกินคาด รสชาติแบบดั่งเดิม ฝีมือคนโบราณแท้ในราคาย่อมเยา

จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปยัง วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง โดยเลี้ยวซ้ายออกจากวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร แล้วขับมุ่งหน้าตรงไป เจอสามแยกให้เบี่ยงไปทางซ้ายเข้าถนนสาย 3008 แล้วขับต่อไปอีกประมาณ 8 กิโลฯ จะพบวัดพิกุลทอง พระอารามหลวง ถนนสี่เลนเห็นองค์พระใหญ่สวยเด่นมาแต่ไกล

วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง หรือที่ชาวบ้านรียกกันว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นวัดที่ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธามาก เพราะหลวงพ่อแพ อดีตเจ้าอาวาส เป็นพระที่ชาวบ้านเคารพรัก ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาไว้มากมาย และมีส่วนช่วยให้วัดพิกุลทองมีลักษณะสวยงามโดดเด่นดังเช่นปัจจุบัน ภายในวัดมี พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นอีกด้านหนึ่งของวัดจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยสุโขทัย ตั้งตระหง่านสวยงาม โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือ หลวงพ่อใหญ่ องค์สีทองเหลืองอร่าม ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค จากประเทศอิตาลี รอบๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคตซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่างๆ ทางด้านทิศเหนือของพระใหญ่ประทานพร จะเป็นที่ตั้ง วิหารรูปเหมือนหลวงพ่อแพ องค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 6 เมตร สามารถเข้าไปสักการะ จุดธูปเทียนปิดทองบูชาด้านในได้ นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น พระสีวลี (พระฉิม) ประดิษฐานอยู่กลางสระน้ำ ด้านหน้าองค์พระใหญ่ พระสังกัจจายนะ ประทานพรให้โชคลาภ อยู่ในสวนพุทธอุทยาน รูปหล่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดเท่าของจริง ถอดแบบมาจากวัดระฆังโฆษิตาราม และพระพิฆเณศวร เทพพระเจ้าแห่งความสำเร็จ เป็นต้น

กราบสักการะหลวงพ่อเป็นที่เรียบร้อยก็ออกมุ่งหน้าต่อมาที่ถนนเส้นเดิม สาย 3032 ขับต่อไปอีกประมาณ 10 กิโลฯ ทางด้านซ้ายจะเป็นที่ตั้งของ วัดโพธิ์เก้าต้น หรือวัดไม้แดง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลบางระจัน ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จุดเด่นวัดโพธิ์เก้าต้น คือ สัญลักษณ์กำแพงวัด ที่สร้างจำลองกำแพงค่าย เพราะวัดนี้เดิมเป็นฐานที่มั่น ของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่าที่ยกกองทัพมาตี กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2308 มี วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติรังสี ประดิษฐานรูปเหมือนท่านอยู่ ซึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นที่เคารพสักการะของชาวสิงห์บุรีมาช้านานแล้ว เนื่องจากท่านเป็นมิ่งขวัญและพลังใจแก่เหล่าวีระชนชาวบ้านบางระจัน ทำให้วีระชนเข้าต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะ บริเวณกุฏิพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้ามากราบไหว้บูชา ขอพรบนบานศาลกล่าว เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มักได้สมหวัง โดยมี สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้คนที่เดินทางมาขอพรหรือบนขอสิ่งที่ต้องการ เมื่อได้ตามที่ขอพรไว้ ก็จะมาแก้บนด้วยการหาบน้ำตามจำนวนหาบที่บนไว้

พระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นพระที่มีอาคมชั้นเลิศ และชำนาญเรื่องเกี่ยวกับยาสมุนไพร เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจของเหล่านักรบแห่งค่ายบางระจัน เดิมทีท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรี พอเกิดสงคราม ชาวบ้านศรีบัวทอง โดยมีนายเมืองเป็นผู้ไปนิมนต์ท่านมาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้นแห่งนี้ ในสมัยที่พม่ายกทัพเข้ามา ประชาชนต่างหนีเอาตัวรอดและเข้ามาอยู่รวมกันที่วัดโพธิ์เก้าต้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก ความต้องการยาสมุนไพรและน้ำมนต์ของพระอาจารย์ธรรมโชติก็มีมากขึ้นด้วย พระอาจารย์ท่านจึงได้ทำน้ำมนต์ใส่สระขนาดใหญ่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน และนักรบ น้ำในสระจึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบัน สุดท้ายไม่มีใครทราบว่าท่านมรณภาพในวัดโพธิ์เก้าต้น หรือว่าหลบหนีไปได้ แต่ด้วยแรงศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ผู้คนยังคงแวะเวียนไปกราบสักการะขอพรพระอาจารย์ธรรมโชติรังสีอยู่เสมอ จวบจนปัจจุบัน

โดยทางวัดได้แบ่งพื้นที่ด้านซ้ายเปิดเป็นตลาดย้อนยุคสมัยบางระจัน ชื่อ ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เซ็ตอัพทุกอย่างให้เหมือนตลาดสมัยโบราณ โดยใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นแคร่วางขายของ หลังคามุงด้วยใบจาก ชอบมุมไหนก็แวะถ่ายรูปได้เลย โดยมีจุดเด่นไฮไลท์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวแต่งกายแบบชุดไทยโบราณในคอนเซ็ป “นุ่งโจมห่มสไบกินสำรับไทยที่บ้านระจัน” สามารถแต่งชุดไทยเดินชมตลาดได้แบบไม่ขัดเขิน เพราะเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทุกร้านก็ร่วมใจกันแต่งชุดไทยเหมือนกัน ค่าเช่าชุดอยู่ที่ ผู้ใหญ่ 100 บาท/วัน เด็ก 40 บาท/วัน นอกจากจะมีอาหารให้เลือกกินกันแบบจุใจแล้ว เรายังแอบชมพ่อแม่ที่พาบุตรหลานมาเที่ยวยังตลาดแห่งนี้ เพราะเด็กๆ จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบท้องถิ่น รู้จักรสชาติหน้าตาอาหารแบบโบราณ ทั้งขนมถ้วย ขนมกล้วย ขนมไข่ปลา ข้าวแช่ หรือแม้แต่เมี่ยงคำกลีบดอกบัวที่หาทานยากก็มี แต่อาหารที่ได้รับความนิยมมากน่าจะเป็นผัดไท เพราะมีถึง 3 ร้าน ลูกค้าต่อคิวแถวยาว ผัดในกระทะใบใหญ่ โชว์กล้ามแบบทหารกล้า เสน่ห์ของที่นี่อีกอย่างคือพ่อค้าแม่ค้าน่ารักทุกคน ยิ้มแย้มแจ่มใสให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี โดยมีทั้ง ผัก ผลไม้ ขนม เครื่องดื่ม ดอกไม้ เครื่องสาน และอาหารโบราณที่หาทานยาก รวมถึงอาหารร่วมสมัยต่างๆ ก็มี สามารถนั่งทานอาหารได้ตามจุดที่จัดไว้ หรือจะมาทานพร้อมชมการแสดง ณ ลานกิจกรรมก็ได้ ทานไปชมไปเพลิดเพลินเจริญใจยิ่งนัก เปิดเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.30 – 16.00 น.

เดินเล่น เดินกินกันจนเหนื่อยก็ได้เวลาไปหาความรู้ใส่ตัวกันแล้ว ฝั่งตรงข้ามวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นที่ตั้งของ อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน ภายในอุทยานฯ ประกอบด้วย อนุสาวรีย์วีรชน ค่ายจำลองที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบโบราณ และอาคารศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายในอาคารจัดแสดงงานได้อย่างน่าชม มีวิดีโอบอกเล่าถึงประวัติการต่อสู้ รูปปั้นวีรชน การสู้รบ รวมถึงบ้านเรือนการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อน พร้อมคำอธิบายที่อ่านเข้าใจง่าย

แม้ว่าค่ายบางระจันจะต้องพ่ายแพ้แก่พม่า แต่วีรกรรมครั้งนั้นได้รับการจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์และจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยถึงความกล้าหาญ สมัครสมานสามัคคี และความเสียสละ จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจันทั้ง 11 ท่าน ได้แก่ นายจันทร์หนวดเขี้ยว ขุนสวรรค์ นายดอก นายทองเหม็น พันเรือง นายโชติ นายแท่น นายเมือง นายทองแก้ว นายอิน และนายทองแสงใหญ่ เพื่อให้เราได้กราบไหว้บูชาและถือเป็นแบบอย่างที่ดีของความรักชาติ

ภายในบริเวณจัดเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจ และมุมแสดงบ้านเรือนความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางระจัน มีบริการจักรยานให้ปั่นชมวิวโดยรอบได้ด้วย โดยอาคารศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์ฯ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร.0 3652 0030

หนึ่งวันผ่านไปไวเหมือนโกหก แต่ละที่ที่แวะเที่ยวล้วนสร้างความประทับใจให้กับเราและทีมงานเป็นอย่างมาก ทั้งอิ่ม ทั้งสนุก และได้ความรู้มาเติมสมองแบบไม่ต้องลงทุน เมืองไทยเรานี้มีที่เที่ยวที่ดีและน่าสนใจอีกมากมาย … เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้จริงๆ

การเดินทาง

โดยรถยนต์

จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ

1. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่านอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จนถึงตัวเมืองจังหวัดสิงห์บุรี

2. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 311 ผ่านอำเภอท่าวุ้ง เข้าสู่จังหวัดสิงห์บุรี

3. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 309 ผ่านจังหวัดอ่างทอง ไปจนถึงจังหวัดสิงห์บุรี

โดยรถโดยสารสาธารณะ

สามารถสอบถามเส้นทางเดินรถได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th.

 

 37,599 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version