จังหวัดปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่าใหญ่ เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยาทแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ใกล้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเทศกาลล่องแก่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว การล่องแก่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ 1-5 แต่ระดับที่เรียกเสียงกรี๊ดและความตื่นเต้นได้ก็จะอยู่ที่ระดับ 3-5 โดยส่วนมากจะอยู่ทางภาคเหนือและภาคใต้ เพราะมีลำน้ำและโขดหินที่เหมาะแก่การล่องแก่ง เช่น ล่องแก่งแม่น้ำแม่แตง อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ ล่องแก่งลำน้ำว้า อุทยานแห่งชาติแม่จริม จ.น่าน ล่องแก่งลำห้วยอุ้มผางคี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ล่องแก่งลำนำเข็ก อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก และ ล่องแก่งหินเพิง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น โดยการล่องแก่งที่ลำน้ำเข็กและแก่งหินเพิงเรียกว่า โหด มันส์ ฮา สักหน่อย ต้องใช้ความสามารถและทักษะในการพายเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเพราะอุปกรณ์เซฟตี้ครบ

คู่หูเดินทางฉบับนี้จะพามาเที่ยวสัมผัสความมันส์กันที่ “แก่งหินเพิง”ไม่ใกล้ไม่ไกลใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ โดยเราสามารถวางแผนได้ว่าจะมาเที่ยวแบบวันเดย์ทริป หรือ 2 วัน 1 คืน มีหลายแพคเกจและหลายรีสอร์ทที่ให้บริการ เมื่อเดินทางมาถึงรีสอร์ท เปลี่ยนเสื้อผ้าพร้อมลุย และฟังบรรยายแนะนำการเล่นอย่างถูกวิธี ใส่อุปกรณ์เซฟตี้อย่างถูกต้อง จากนั้นจะมีรถกระบะพาเรามาส่งยังบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 (ขญ.9) ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร หลังจากนั้นเราจะต้องลงเดินตามเส้นทางเลียบลำน้ำไปยังจุดล่องแก่งอีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาที มีร่มไม้ใบบังไม่ร้อนมาก แต่เรียกเหงื่อได้ดีจริงๆ ระยะทางล่องแก่งประมาณ 5 กิโลเมตร ช่วงน้ำเยอะจะใช้เวลา 45 นาทีต่อเที่ยว ระดับน้ำที่เหมาะแก่การล่องแก่ง คือ ระดับ 3-5
การล่องแก่งจะใช้แพยาง นั่งได้ประมาณ 8 -10 คน มีเจ้าหน้าที่แพนั่งหัวและท้ายเรือเพื่อบังคับเรือให้ไปตามเส้นทาง ส่วนผู้ร่วมทริปอีก 4 คนก็จะมีหน้าที่ช่วยพายเรือแบบยันไปมาไม่ให้โดนโขดหินกระแทรก ที่เหลือเป็นแผนกส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดเพิ่มความสนุกสนานในการล่องแก่งได้เป็นอย่างมาก โดยการล่องแก่งจะเริ่มจาก แก่งหินเพิง ซึ่งเป็นแก่งหินตอนปลายสุดของแม่น้ำใสใหญ่ บริเวณนี้จะเป็นลานหินกว้าง ถ้ามาตอนที่น้ำยังไม่มากเราจะสามารถมองเห็นเกาะแก่งสวยงามได้ชัดเจน ต่อด้วย แก่งวังผักหนามล้อม มีลักษณะเป็นแก่งน้ำวนขนาดใหญ่เวลาพายต้องช่วยกันดันไม่ให้เรือกระแทกโขดหิน ถัดมาจะเป็น แก่งวังบอน เป็นแก่งหินสั้นๆ ยาวประมาณ 30 เมตร กระแสน้ำจะไหลลาดเอียงผ่านชั้นหินและเกาะแก่งต่างๆ จากนั้นน้ำจะไหลเอื่อยๆ ลงมายังแก่งถัดไปคือ แก่งลูกเสือ มีลักษณะเป็นแก่งน้ำเล็กๆ มีร่องน้ำสามารถพายเรือยางผ่านไปได้แบบสบายๆ โดยบริเวณนี้จะเรียกว่า แก่งวังยาว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ช่องแคบมะละกา” เป็นช่วงน้ำใสไหลเอื่อยๆ เหมาะแก่การนอนลอยคอชมวิวทิวทัศน์อันร่มรื่นรอบๆ ตัวยิ่งนัก เมื่อชุ่มฉ่ำกับสายน้ำเป็นที่เรียบร้อยก็กลับขึ้นแพไปปิดทริปโหด มันส์ ฮา กันต่อที่แก่งสุดท้าย แก่งวังไทร มีลักษณะเป็นแก่งหินกว้างประมาณ 50-60 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ความกว้างของแก่งพอๆ กับแก่งลูกเสือ มีความลาดชันประมาณ 30 องศา กระแสน้ำจะไหลผ่านเกาะแก่งต่างๆ แล้วม้วนตัวเป็นวงคลื่น ต้องใช้ทักษะความชำนาญในการพายเรือค่อนข้างสูง และมาขึ้นฝั่งกันที่แก่งงูเห่า ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ.9 มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ พร้อมลานกว้างให้นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนอิริยาบถได้ตามสะดวก ถือว่าเป็นการจบทริปล่องแก่งหินเพิงที่แสนสนุกได้อย่างดีเยี่ยม… น้ำใส บรรยากาศดี ต้นไม้ร่มรื่นเขียวขจีตลอดเส้นทาง เป็นการเที่ยวตามน้ำที่ได้ทั้งความสุข ความสนุก มันส์ ฮา จริงๆ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3069 ถนนปราจีนอนุสรณ์ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2542 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เสด็จสวรรคตก่อนในกลางปี พ.ศ. 2453 ต่อมาตึกหลังนี้ได้ตกทอดมายังหลานสาวของท่าน พระนางเจ้าสุวันทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 จึงประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กับทางราชการเพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาล ในชื่อ โรงพยาบาลปราจีนบุรี เปิดทำการครั้งแรกวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 และได้เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 และด้วยความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถานของชาติ โดยได้มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2537
ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาโร้ค (Barogue) เป็นตึกสองชั้นมีมุขด้านหน้าตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกมีลายปูนปั้น ลายพฤกษาประดับ ซุ้มประตูและหน้าต่างภายในตึกแบ่งออกเป็นหลายห้อง เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคารทางด้านซ้ายมือชั้นล่างจัดเป็นห้องแสดงประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ข้อมูลลักษณะเด่นต่างๆ ของตัวอาคาร ของใช้ประจำตัว พระฉายาลักษณ์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นหลานปู่และหลานทวดของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรด้วย ตรงกลางเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นห้องที่มีความงดงามที่สุด เพราะยังคงลักษณะการตกแต่งภายในแบบเดิมไว้ ตั้งแต่ลวดลายกระเบื้องปูพื้น ภาพเขียนสีปูนเปียกบนเพดาน และลายปูนปั้นหัวเสา ส่วนห้องถัดไปทางด้านขวามือจัดเป็นร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน – อภัยภูเบศร โอสถ โดยเปิดให้บริการตรวจรักษาโรคต่างๆ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และจ่ายยาสมุนไพรในรูปแบบยาหม้อ ยาเม็ด และยาผง ให้ตรงกับอาการของโรคที่เป็น เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน โรคโลหิตสตรี เป็นต้น เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น.
ส่วนชั้นบนของอาคาร จัดเป็นโซนให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ตำนานหมอหลวง การแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์แผนไทย เช่น ตู้ยา หินฝนยา หินชนวน ครกบดยา รางบดยา หม้อต้มยา และตำรายาไทยต่างๆ มากมายกว่า 700 เล่ม ฯลฯ ด้านหลังตึกเป็นสวนสมุนไพร แหล่งเรียนรู้สมุนไพรไทยสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น.

พิพิฑภัณฑ์อยู่สุวรรณ์
ตั้งอยู่ที่ถนนปราจีนตคาม ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัด ชื่อของพิพิธภัณฑ์อยู่สุวรรณ ตั้งตามชื่อ-สกุลของ คุณณรงค์ อยู่สุขสุวรรณ์ หรือที่ชาวปราจีนบุรี เรียกว่า “เฮียพันธ์” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ นี้ขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมนั้นประกอบอาชีพรับซื้อขายของเก่าจำพวกเศษเหล็กและโลหะ ในช่วงแรกๆ จะมีตะเกียงเจ้าพายุติดมากับพวกเศษโลหะจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก และยังขายไปในราคาเดียวกับเศษเหล็กทั่วไป แต่เมื่อมีคนมาซื้อเป็นดวงๆ และให้ราคาสูงเพื่อนำไปประดับตกแต่งให้สวยงามและขายต่อให้ชาวต่างประเทศ ในขณะนั้นคุณณรงค์จึงเริ่มฉุกคิดขึ้นมาว่า หากขายออกไปจำนวนมากอาจทำให้ตะเกียงเจ้าพายุซึ่งเป็นตะเกียงที่มีเอกลักษณ์สวยงามและทนทานหมดไปจากประเทศไทย และคนรุ่นหลังอาจไม่รู้จักเพราะไม่เคยเห็นตะเกียงแบบนี้ จึงได้ตัดสินใจเริ่มสะสมตะเกียง ต่อจากนั้นก็เริ่มสะสมสิ่งของอื่นๆ ตามมา เช่น นาฬิกา จักรยาน โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ไม้สัก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งของที่จัดแสดงทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาในการเก็บสะสมมากกว่า 30 ปี โดยพิพิธภัณฑ์นั้นได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ก็นับได้กว่า 10 ปีแล้ว ของที่จัดแสดงก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นางเอกของที่นี่ก็ยังคงเป็นตะเกียงโบราณที่หาชมได้ยากในยุคสมัยนี้ เสียค่าเข้าชมท่านละ 100 บาท เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 17.00 น. โทร.0 3721 8511, 0 3721 8512, 08 1295 8218

การเดินทาง
โดยรถโดยสารสาธารณะ
จากกรุงเทพฯ สามารถขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ลงที่สถานีขนส่งกบินทร์บุรี สี่แยกสามทหาร และต่อรถสองแถวไปที่อำเภอนาดี เพื่อต่อไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

โดยรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ได้ 2 เส้นทาง
เส้นทางถนนสาย 304 มอเตอร์เวย์ – ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี
เส้นทางถนนสาย 33 รังสิต – นครนายก – กบินทร์บุรี
ก่อนถึง อ.กบินทร์บุรี จะมีทางสามแยก ให้ตรงไปอีกเล็กน้อยจะเห็นปั๊มน้ำมัน ปตท. และโรงเรียนวัดสระดู่ ทางด้านซ้ายมือ มีถนนเล็กๆ รพช. สระดู่ – สะพานหิน ติดกับโรงเรียนให้เลี้ยวซ้ายวิ่งเข้าไปประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนบ้านหนองแหน เลี้ยวซ้ายไปอีก 7 กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง (พิกัด GPS หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ.9 แก่งหินเพิง : N 14.17161, E 101.72022)
ขอบคุณภาพประกอบ : วังตะพาบรีสอร์ท บริการที่พักและแพคเกจทัวร์ล่องแก่งหินเพิง โทร.08 7537 0765

 4,656 total views,  4 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version