รู้ไหมว่ายาปฏิชีวนะที่ผู้ป่วยได้รับจากแพทย์ ส่วนมากแพทย์จะวินิจฉัยหรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียจึงจ่ายยาให้ แต่คนทั่วไปมักเรียกยากลุ่มนี้เป็นยาแก้อักเสบ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น เพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ยาปฏิชีวนะที่เป็นที่คุ้นเคยและผู้ป่วยมักซื้อใช้เองได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) อ็อกเมนติน (augmentin) เตตร้าซัยคลิน (tetracycline) อะซีโทรมัยซิน (azithromycin) เป็นต้น การใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะบ่อยๆ ทั้งที่ไม่จำเป็น อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาตามมาได้ และเมื่อใช้ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายหลายทาง

1. ได้รับผลข้างเคียงจากยา จนเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เวียนศีรษะ

2. โรคที่เป็นรักษาไม่หาย

3. อาจเกิดการแพ้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้

4. เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งมีอยู่ได้ในร่างกายเป็นปกติดื้อต่อยาที่ใช้ ข้อสำคัญ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้

แล้วเมื่อไรที่ต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะกันล่ะ

เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย หรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น โดยผ่านการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มโรค 3 กลุ่มที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ แต่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก ได้แก่ ไข้หวัดเจ็บคอ ท้องเสียและแผลเลือดออก โดยกลุ่มโรคเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 80 ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ประคับประคอง และการให้คำแนะนำผู้ป่วย เช่น ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอในไข้หวัดเจ็บคอ ใช้ยาลดอาการท้องอืดและการดื่มน้ำเกลือแร่กรณีท้องเสีย และในกรณีแผลเลือดออก การดูแลรักษาแผลตามที่แพทย์นัด และป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำเพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วในการรักษา

 2,138 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version