สมัยก่อนเมื่อลมร้อนพัดผ่านมา การละเล่นที่ผู้คนนิยมเล่นกันเห็นจะหนีไม่พ้นการเล่นว่าว ซึ่งว่าวไทยนั้นก็มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเช่นกัน

มีบันทึกในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาว่า ว่าวมิได้ใช้เฉพาะเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่มีการใช้ว่าวในการสงคราม คือตอนที่พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฏ พระเพทราชาสั่งกองทัพไปปราบเมือง แต่ไม่สำเร็จ

ในครั้งที่ 2 แม่ทัพอยุธยาคิดเผาเมือง โดยอุบายหนึ่งนั้นคือการใช้หม้อดินบรรจุดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬาไปถึงหม้อดินดำ ระเบิดก็ตกไปไหม้บ้านเมือง และดูเหมือนว่านี่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ใช้เรียกชื่อว่าวจุฬาเป็นครั้งแรก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยม โดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนกีฬาเล่นว่าว มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า โดยมีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนาน สถานที่เล่นว่าวในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันคือท้องสนามหลวง ส่วนในต่างจังหวัดก็นิยมเล่นตามที่โล่งกว้าง หรือตามท้องนาทั่วไป ซึ่งไม่มีต้นไม้เป็นที่ขัดขวางของการเล่น และสะดวกต่อเล่น

ในสมัยต่อมา เมื่อประเทศมีการพัฒนา มีสิ่งก่อสร้างตึกสูงและสายไฟต่างๆ ผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น กลายเป็นสิ่งกีดขวางของการเล่นว่าว ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้ผู้คนต้องอยู่ในภาวะปากกัดตีนถีบ ไม่มีจิตใจที่จะคิดสนุกสนานไปชมการเล่นว่าวได้บ่อยๆ จึงทำให้วงการกีฬาว่าวไม่คึกคักเช่นเคย

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2526 ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนได้ร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้ง โดยการจัดงาน “มหกรรมว่าวไทย” ณ บริเวณท้องสนามหลวง มีการประกวดว่าวชนิดต่างๆ มากมาย ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และว่าวตลกขบขัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในงานนี้ด้วย และในปี พ.ศ. 2527 ทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานนี้อีกเรียกว่า “งานประเพณีว่าวไทย” ณ ท้องสนามหลวง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จฯ เป็นองค์ประธานอีกครั้ง ส่วนสำคัญคือการประกวดว่าวภาพและการแข่งขันว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า รวมถึงมีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ประชาชนได้ชม และในปีต่อๆ มาทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานประเพณีการเล่นว่าวขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบันนี้

 3,203 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version