เวลาใครไปเที่ยวญี่ปุ่น หลายคนมักไม่พลาดการไปถ่ายรูปแลนด์มาร์กที่ตึกกูลิโกะที่โดดเด่นด้วยรูปนักวิ่ง ซึ่งเป็นรูปที่เราคุ้นตากัน รูปนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้นญี่ปุ่นกำลังรีบเร่งพัฒนาประเทศ เด็กจำนวนมากเกิดภาวะขาดสารอาหาร จนชายหนุ่มนาม ริอิจิ เอซากิ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการขายไวน์และการขายยา มีความคิดอยากจะผลิตบางสิ่งที่ให้สารอาหาร พลังงานและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เขามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง จึงลองสกัดสารจากหอยนางรมมาผสมคาราเมลในการแปรรูปเป็นขนม สารที่ว่านี้คือ Glycogen ที่มาของชื่อ Glico ต่อมาในปี 1922 ลูกอมรสคาราเมลถูกวางขายในกล่องสีเหมือนวงกลมในธงชาติญี่ปุ่น จากที่มองกันว่าขนมคือสิ่งไร้ประโยชน์ แต่ขนมนี้ถูกมองใหม่ เพราะขนมชนิดนี้ได้คำนวณมาแล้วว่าให้พลังงาน 15.4 กิโลแคลอรี สำหรับคนสูง 165 เซนติเมตร หนัก 55 กิโลกรัม และพลังงานนี้ทำให้ร่างกายวิ่งได้ไกล 300 เมตร (เชื่อหรือยังว่าคนญี่ปุ่นละเอียดกันขนาดไหน) ขนมของเอซากิขายดีขึ้นเรื่อยๆ มีขนมหลากชนิดผลิตออกมา แต่เมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานทำขนมถูกทำลายสิ้น แต่หลังจากสงครามสงบลง 6 ปี เอซากิก็ยังไม่ท้อถอย โรงงานขนมของเขากลับมาเดินหน้าใหม่อีกครั้ง พร้อมนักวิ่งข้างกล่องที่ดูทรงพลังกว่าเดิม และนี่คือตำนานของขนมป๊อกกี้ที่ผู้ใหญ่และเด็กมากมายชอบกินตั้งแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้

 3,905 total views,  4 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version