แม้หนทางจะไกลสักเพียงไหนเส้นทางจะทุรกันดารสักเท่าไหร่แต่เมื่อพระองค์ท่านทรงสดับรับฟังถึงความเดือนร้อนของประชาชนแล้ว พระองค์ท่านก็จะรีบเสด็จไปทันที เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนในผืนแผ่นดินของท่านได้อยู่อย่างมีความสุขกาย สุขใจ ในวิถีชีวิตที่พอเพียง นี่คงเป็นที่มาของคำว่า พ่อของแผ่นดิน
เช่นเดียวกับที่ ป่าสนวัดจันทร์ อำเภอกัลยณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่บ้านวัดจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2522 ทรงพบว่า ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ด้อยโอกาสทางการศึกษาและสุขภาพอนามัย และผลผลิตข้าวก็มีไม่พอเพียงสำหรับการบริโภค แต่หมู่บ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ผู้อำนวยการโครงการหลวง หาทางช่วยเหลือราษฎร ตำบลบ้านจันทร์ โดยให้คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไว้ด้วย องค์ผู้อำนวยการโครงการหลวงได้นำพระราชกระแสรับสั่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ อ.อ.ป. หรือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดตั้งโครงการหลวงให้เข้าไปดูแลพื้นที่ในส่วนป่าสนของโครงการ สอนให้ชาวบ้านปลูกป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการปลูกป่าทดแทน และปลูกเสริมป่าสนเข้าไปให้เกิดความหนาแน่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแหล่งต้นน้ำ โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปลูกป่าตอนหนึ่งความว่า “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย…”

ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเพาะปลูกข้าวก็มีพอเพียงสำหรับการบริโภคตลอดทั้งปี มีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า การกสิกรรมเลี้ยงวัวเพื่อนำไปขาย และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงชาวบ้านบางคนก็มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวด้วยการปลูกผักและผลไม้ต่างๆ ส่งโครงการหลวง ทำให้มีเงินส่งลูกหลานเรียนหนังสือให้มีความรู้ที่ดีขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป…โครงการหลวงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการจะเป็นโครงการต้นแบบในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ให้เราได้อยู่กับธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสายน้ำอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนพระองค์ท่านได้ทรงปลูกต้นไม้ไว้ให้พวกเราชาวพสกนิกรชาวไทยได้ช่วยกันรดน้ำ พรวนดิน ดูแลต้นไม้ของพ่อให้เจริญงอกงามอยู่สืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

คู่หูเดินทางฉบับนี้จะของพาท่านผู้อ่านมาเดินทางท่องเที่ยวตามรอยพระยุคลบาท สัมผัสป่าสนที่อุดมสมบูรณ์และมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่ โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นอำเภอที่ 878 ของประเทศไทย เป็นการรวมเอา 3 ตำบลของอำเภอแม่แจ่ม ได้แก่ ตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแม่แดด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเดินทางสัญจรติดต่อราชการลำบาก แยกออกมาเป็นอำเภอใหม่ และอำเภอนี้ยังเป็นอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น “โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” อีกด้วย) ภูมิประเทศโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขาสูงชัน สลับกับพื้นที่ราบบางช่วง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900-1,200 เมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนและป่าเต็งรัง ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ติดกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 4  องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 19 องศาเซลเซียส

การเดินทางมาที่นี่มาได้สองเส้นทางคือ เส้นทางอำเภอปาย-วัดจันทร์ ระยะทาง 160 กิโลเมตร ถนนดีตลอดเส้นทาง ส่วนอีกเส้นทาง คือ อำเภอสะเมิง -วัดจันทร์  ระยะทาง 154 กิโลเมตร เส้นทางนี้มีรถสองแถวประจำทางผ่าน มีทางลาดยางสลับกับดินแดงบ้างบางช่วง ไม่เหมาะกับรถเล็ก (รถกระบะและรถมอเตอร์ไซด์ขับได้) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

ครั้งนี้เราเลือกใช้เส้นทางสายสะเมิง-วัดจันทร์ เพราะทางเจ้าหน้าที่ อ.อ.ป. แนะนำว่าใกล้กว่า ทางค่อนข้างดีขึ้นกว่าก่อน ขับเลาะเขาเลี้ยวซ้าย โค้งขวาไปเรื่อยๆ ชมวิวทิวเขา ขับผ่านหมู่บ้านต่างๆ ชมแปลงสตรอเบอรรี่ขนาดใหญ่ที่ปลูกตามพื้นที่ไหล่เขาของชาวบ้านที่ตำบลบ่อแก้ว เพื่อเตรียมไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาว ตลอดเส้นทางก็จะเห็นต้นสนสองใบสามใบขึ้นอยู่เป็นระยะ จนมาเจอกับจุดชมวิวแบบพาโนรามาเห็นวิวเขาแบบสุดลูกหูลูกตา เป็นสัญลักษณ์ว่าอีกชั่วโมงกว่าๆ ก็จะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

ขับตรงตามทางไปเรื่อยๆ จะเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาตรงวัดจันทร์และขับตรงไปอีกประมาณ 5-6 กิโลเมตรก็จะถึงกับ โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ อ... อยู่ทางด้านขวามือ สถานที่สวยสะอาด บรรยากาศดีสุดๆ เหมาะแก่การพักผ่อนเอนกายนอนดูธรรมชาติแบบสโลว์ไลฟ์ จุดเด่นภายในโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์แห่งนี้คือบริเวณ อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ ที่ในยามเช้าจะมีไอหมอกลอยละล่องเป็นละอองสีขาวปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ในอุณหภูมิที่เย็นสบายประมาณ 18 องศาเซลเซียส พร้อมแนวทิวสนสองใบตลอดทางเดินก่อนถึงสันอ่างเก็บน้ำ เมื่อมองลงมาจากด้านบนจะเห็นบ้านฉางตั้งอยู่กลางทุ่งนาสีเขียวขจี รวงข้าวท้องแก่สีเหลืองทองพร้อมรอการเก็บเกี่ยว

บริเวณทางด้านขวามือจากทางเข้าด้านหน้าจะเป็นแนวต้นเมเปิ้ล ในช่วงเดือนธันวาคมใบเมเปิ้ลจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงให้บรรยากาศที่สวยงามไปอีกแบบ และถ้าใครมาในช่วงที่จังหวะดี อากาศหนาวได้ที่ ก็มีโอกาสได้ชมดอกนางพญาเสือโคร่งเป็นของแถมอีกด้วย

ต้นไม้ ดอกไม้ การจัดวางตกแต่งสถานที่เป็นไปอย่างลงตัว มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความชุ่มชื่นของธรรมชาติ บริเวณฝั่งตรงข้ามกับสำนักงานเป็นร้านขายของที่ระลึก โดยฝีมือของชาวปกากะญอ งานแฮนด์เมดที่ทำมาจากใจ โดยใช้ต้นสนที่ล้มตามธรรมชาติมาขัดเกลาแกะสลักให้เป็นของขวัญของฝากที่น่าซื้อหาอย่างยิ่ง บางชิ้นเป็นงานถัก งานทอ โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาประกอบเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์

โดยมีบ้านพักให้บริการหลายหลัง สะดวกสบาย มีเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องนอน ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม อากาศเย็นสบายตลอดปี มีจุดกางเต้นท์ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ค่าธรรมเนียมกางเต็นท์คนละ 50 บาทต่อคืน แต่ต้องเตรียมเต้นท์มาเอง บริเวณที่พักมีร้านอาหารรับรองสำหรับผู้ที่สั่งจองไว้เท่านั้น หากท่านใดสนใจต้องแจ้งความจำนงไว้พร้อมการจองเข้าพัก เพื่อการจัดเตรียมได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญอาหารอร่อย คุ้มค่า คุ้มราคา!สอบถามรายละเอียดและจองห้องพักได้ที่ โทร. 053-249349 หรือ www.fio.co.th
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

  • ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรวัดจันทร์ ชมแปลงผักปลอดสารพิษ การปลูกผลไม้เมืองหนาว บ๊วย พลับ พลัม สาลี และอื่นๆ เช่น ฟักทอง เมล่อนญี่ปุ่น อโวคาโด้ ฯลฯ แปลงปลูกต้นกล้าต่างๆ ตามฤดูกาลเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อเกษตรกรในโครงการหลวง พืชผลผลิตที่นี่จะถูกนำไปส่งต่อที่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงแม่เหี้ยะ เพื่อจำหน่ายต่อไปภายในศูนย์โครงการหลวงวัดจันทร์ มีบริการบ้านพักและพื้นที่สำหรับกางเต้นท์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 084-365 5405, 053-215981, 053-216433

 

  • วัดจันทร์

เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานกว่า 300 ปีแล้ว มีความโดดเด่น คือ วิหารแว่นตาดำ ลักษณะคล้ายคนสวมแว่นตา ดำอยู่หน้าวิหาร สร้างมาประมาณ 80 ปี โดยช่างชาวกะเหรี่ยงหรือชาวปกากะญอ โดยเหตุผลที่ว่าเพราะวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พื้นวิหารเทพื้นปูน ฝาวิหารด้านข้างฉาบปูน ส่วนประตูด้านหน้าวิหารรวมทั้งจั่ววิหารด้านหน้าส่วนหนึ่งได้ทำด้วยแผ่นไม้สักปิดบังแสงแดดไว้หมด ขณะนั้นช่างเห็นว่าหากปิดด้านหน้าวิหารหมดจะไม่มีแสงแดดให้แสงสว่างในวิหารได้ จึงมีเจตนาว่าจะเปิดด้านหน้าวิหาร บริเวณจั่วให้แสงแดดเข้ามาข้างในวิหารได้บ้าง จึงเจาะแผ่นไม้บางส่วนของจั่วออก โดยช่างตั้งใจจะทำให้เหมือนดวงตา แต่พอทำเสร็จมีลักษณะคล้ายแว่นตาจึงปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น เมื่อก่อนไม่ได้มีการนำกระจกมาสวมใส่แต่อย่างใด แต่เป็นห่วงทรัพย์สินในวิหารที่มีพระประธานเป็นพระสิงห์ 3 อายุกว่า 300 ปี และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกจำนวนมาก กลัวว่าจะสูญหาย ต่อมาจึงนำกระจกกรองแสงสีดำมาติดอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นวิหารสวมแว่นตา และอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความประทับใจน่าจดจำไม่รู้ลืมก็คือ ภาพถ่ายครั้งเมื่อปี พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ณ อาศรมพระธรรมจาริกบ้านจันทร์บริเวณด้านหลังพระวิหารจะเป็นองค์พระธาตุสีขาว ส่วนบริเวณด้านข้างจะเป็นโบสถ์ไม้สักทอง ด้านในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวซึ่งเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่

  • จุดชมวิวพระธาตุจอมแจ้ง

เป็นจุดชมวิวมุมสูงที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านวัดจันทร์ และอำเภอกัลยาณมิตรได้แบบกว้างไกล ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดจันทร์มากนัก มีป้ายทางขึ้นบอกไว้ทางด้านซ้ายมือ เส้นทางลาดชันเล็กน้อย ทางที่ดีควรใช้รถกระบะเพื่อความชัวร์ ขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร เราก็จะได้เห็นเจดีย์สีขาว เรียกว่า โคว่โพหลู่ แปลว่า พระธาตุบนภูเขา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร ครั้งเมื่อมาตั้งทัพ ณ บริเวณนี้ ปัจจุบันได้มีการบูรณะปรับปรุง และส่งเสริมให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของบ้านวัดจันทร์ เมื่อยืนบริเวณทางเดินจุดชมวิวด้านนอก แล้วมองออกไปด้านล่างจะเห็นภาพบ้านเรือนเป็นกลุ่มก้อน แนวทุ่งป่าสน ต้นไม้น้อยใหญ่ ทุ่งนาสีเขียวขจี… พร้อมแล้วก็ยกมือขึ้น สูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มปอด โอว้! นี่คือสุดยอดของการฟอกปอดอย่างแท้จริง สบายตา สบายใจอย่างบอกไม่ถูก และในช่วงยามเย็น พระอาทิตย์เริ่มอัสดง จุดนี้ก็ถือว่าเป็นจุดไฮไลท์โบกมือลาพระอาทิตย์ที่สวยงามอีกจุดหนึ่งเช่นกัน

 

  • อ่างอนุรักษ์พันธุ์ปลาห้วยบ้านร้าว (น้ำออกรู)

ตั้งอยู่ในบริเวณที่ปฏิบัติธรรมต้นน้ำ (ว.จ.) เป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาพื้นเมือง ปลาพลวงท้องถิ่น ที่มีลักษณะเกล็ดสวย ตัวใหญ่ สีน้ำเงินเข้ม โดยมีกฎระเบียบในการเที่ยวชมดังนี้ ห้ามจับปลาด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ห้ามให้อาหารปลาด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารเม็ด ห้ามลงเล่นน้ำ-ส่งเสียงดัง ห้ามทิ้งขยะทุกชนิด และห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดมาดื่มในบริเวณนี้ บริเวณนี้เป็นเขตของสงฆ์จึงมีความร่มรื่นและเงียบสงบ เหมาะแก่การมานั่งพักผ่อนหย่อนใจใกล้ชิดธรรม และที่สำคัญบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับเอาไว้ใช้สอยของคนในหมู่บ้านวัดจันทร์อีกด้วย

การใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดธรรมชาติ มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างพอประมาณ พอมีกิน พอมีใช้ มีอาชีพที่สุจริตเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน และไม่เบียดเบียนผู้อื่น นี่คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงสอนให้พวกเรานำปรัชญานี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง และเพียงพอ

การเดินทางไปโครงการหลวงวัดจันทร์

โดยรถโดยสารสาธารณะ

มีรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกวัน จากนั้นต่อรถสองแถวสีเหลืองสายเชียงใหม่-สะเมิง-วัดจันทร์ สามารถขึ้นรถสองแถวได้ที่ บขส. (ช้างเผือก) ราคาคนละ 180 บาท ใช้เวลาเดินทางขึ้นไปประมาณ 6 ชั่วโมง

โดยรถส่วนตัวมี 2 เส้นทาง

  • เส้นทางแรก ทางหมายเลข 107 ตรงตลาดแม่มาลัยเลี้ยวซ้าย หรือใช้เส้นทางหลักหมายเลข 1095 (ตลาดแม่มาลัย – ปาย) และก่อนถึงอำเภอปายประมาณ 13 กิโลเมตร ตรงด่านป่าไม้ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังเส้นทางหมายเลข 1265 ตรงป้ายบอกทาง เข้าบ้านวัดจันทร์ ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร รวมระยะทาง 160 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
  • เส้นทางที่สอง สามารถเดินทางจากหมายเลขทางหลวง 107 (แม่ริม-สะเมิง-บ่อแก้ว-วัดจันทร์) สามารถเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 107 เข้าอำเภอแม่ริมแล้วมุ่งไปยังทางหลวงหมายเลข 1096 ผ่านอำเภอสะเมิงไปบ้านแม่สาบ บ้านบ่อแก้ว แจ่มน้อย และเข้าหมู่บ้านวัดจันทร์ จากหมู่บ้านไปทางเส้นทางวัดจันทร์ปายประมาณ 3 กิโลเมตร โครงการฯ จะอยู่ทางซ้ายมือของท่าน รวมระยะทาง 154 กิโลเมตร เส้นทางลูกรังสลับยางดำ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

 

 

 6,467 total views,  3 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version