การเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางในแต่ละที่ ย่อมมีทั้งเส้นทางตรง เส้นทางอ้อม เส้นทางเลี่ยงเมือง รวมถึงเส้นทางลัดเพื่อการประหยัดเวลาและหลบเลี่ยงปัญหาการจราจรที่ค่อนข้างแออัดคับตั่ง ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ถนนแต่ละสายที่มุ่งหน้าออกนอกเมืองกรุงเพื่อไปยังสถานที่พักผ่อนต่างๆ เรียกว่า รถวิ่งเป็นขบวนต่อกันเป็นแถว สลับกับหยุดนิ่งบ้างในช่วงทางร่วมหรือทางแยก

คู่หูเดินทางฉบับนี้ขอพาท่านไปสัมผัสกับเส้นทางลัดที่เหมาะจะเป็นหนึ่งเป้าหมายในการท่องเที่ยวของท่าน “บางตะบูน” อ.บ้านแหลมจ.เพชรบุรีเส้นทางนี้หากขับรถตรงมาเรื่อยๆจากถนนพระราม 2 ผ่านอ.มหาชัยจ.สมุทรสาครข้ามแม่น้ำท่าจีนผ่านดอนหอยหลอดข้ามแม่น้ำแม่กลองจ.สมุทรสงครามขับตรงมาเรื่อยๆสังเกตป้ายบอกทางบ้านคลองโคลนมีปั๊มน้ำมันปตท. ตั้งอยู่หัวมุมใกล้ทางเลี้ยวให้ขับเบี่ยงซ้ายจากนั้นก็เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางลัดไปยังหาดชะอำจ.เพชรบุรีได้เลยครับระยะทางจากจุดนี้ไปถึงชายหาดชะอำประมาณ 85 กิโลเมตรเส้นทางสวยงามรถไม่เยอะถนนสองเลนลาดยางอย่างดีที่สำคัญวิวสวยบรรยากาศดีมากๆ … จากจุดนี้ถือเป็นการเริ่มต้นเส้นทางลัดความสุขท่องเที่ยวแบบชิลๆชมนกชมไม้สัมผัสบรรยากาศท้องทุ่งนาเกลือและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความสุขได้อย่างพอเพียงครับ

จากจุดเริ่มต้นเลี้ยวเข้ามาทางเส้นคลองโคลนก็ขับมาตามป้ายบอกทางไปชะอำเลี้ยวซ้ายบ้างขวาบ้างก็มาตามทางไปเรื่อยๆจะเจอร้านอาหารทะเลร้านขายปูเป็นระยะขับเข้ามาประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะพบกับ สะพานเฉลิมพระเกรียติ ปากอ่าวบางตะบูน เมื่อข้ามสะพานนี้มองไปทางด้านซ้ายมือจะเป็นปากอ่าว เห็นกระเตงที่ชาวบ้านเขาไปปลูกไว้กลางทะเลเพื่อเฝ้าหอยแครงในแปลงเลี้ยงของตัวเอง ที่บางตะบูนในบริเวณปากอ่าวจะเป็นแหล่งดินโคลนชั้นดี เอื้ออำนวยในการเลี้ยงหอยแครง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำฟาร์มหอยแครงกัน มองเห็นไปไกลจนสุดลูกหูลูกตา และที่เรียกกันว่า “กระเตง” ก็เพราะว่าเมื่อยามมีลมฝนหรือลมทะเลพัดเข้าฝั่งมาแต่ละที บ้านน้อยหลังนี้ก็จะโยกเยกกระโตงไปกระเตงมานั่นเอง ถ้ามาถึงบริเวณนี้ในยามเช้าสักหน่อยวิวจะสวยมาก เพราะเป็นฝั่งที่พระอาทิตย์ขึ้นพอดี แต่ถ้าใครไม่อยากเดินทางออกจากบ้านแต่เช้ามืด ที่นี่เค้าก็มีโฮมสเตย์ที่พักหลายแห่งลองเซิร์สหาในกูเกิลกันดูได้ครับ ทางด้านหลังเทศบาลบางตะบูนมีทางเดินชมป่าโกงกาง ระยะทาง 800 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถไว้บริเวณนี้หรือฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดปากอ่าวแล้วลงเล่นเดินสำรวจบริเวณรอบๆ ก็ได้ ส่วนทางด้านฝั่งขวาของสะพานจะเป็นที่ตั้งของวัดปากอ่าวบางตะบูน มีทางเดินเลียบแม่น้ำบางตะบูนอยู่บริเวณใต้สะพาน และมีศาลเจ้ากวนอู+ ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย และที่สวยสะดุดมากนอกจากท้องทะเลแล้วก็น่าจะเป็นอาคารเรียนไม้เก่าทรงโบราณ ที่อายุอานามก็น่าจะเกือบร้อยปีนะครับ เพราะลองสอบถามชาวบ้านแถวนั้นดูก็ได้ความว่า เป็นอาคารเรียนตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่าโน้นเลย…

จากจุดนี้ให้ขับรถออกมามุ่งหน้าไปทางอำเภอบ้านแหลมตามถนนหมายเลข 4012 จะสังเกตเห็นว่ามีอาคารสูงทรงทึบไม่มีหน้าต่างมีแต่เพียงช่องลมเล็กๆไม่ต้องสงสัยครับอันนี้คือบ้านนกนางแอ่นที่ชาวบ้านเค้าสร้างไว้เพื่อให้นกนางแอ่นมาทำรังแล้วเก็บไปขายแทนการอยู่ในถ้ำตามธรรมชาติเพราะในบริเวณนี้มีนกนางแอ่นชุกชุมมากการค้าขายรังนกจึงเศรษฐกิจหมุนเวียนของถิ่นนี้ครับ

เมื่อขับรถแยกเข้ามาทางถนนหมายเลข 4028 เลียบเลาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยไปทางแหลมผักเบี้ยเราก็จะพบกับความสวยงามอลังการของท้องทุ่งนาเกลือทั้งสองฝั่งฟากถนนเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในการทำนาเกลือ… หลังสู้ฟ้าหน้าสู่เกลือเพื่อครอบครัว…

เกลือที่นี่คือ เกลือสมุทร ครับ เพราะทำมาจากน้ำทะเล ต่างจากเกลือสินเทาที่ทำมาจากเหมืองใต้ดิน เกลือนั้นมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะนำมาใช้ในครัวเรือน อาทิ ปรุงอาหาร ดองผัก หมักปลา และเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงต่างๆ แล้ว ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กระบวนการผลิตน้ำแข็ง อตสาหกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์พลาสติก แผ่นซีดี หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมความงามก็นำเกลือมาทำสปา ขัดผิว นวดหน้า เป็นต้น

ระยะเวลาการทำนาเกลือ เริ่มประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน คือทำได้เฉพาะฤดูหนาวและฤดูร้อนเท่านั้น เพราะเกลือไม่สามารถโดนน้ำธรรมดาได้นาน จะละลาย ช่วงฤดูฝนจึงเป็นช่วงหยุดทำนาเกลือ ช่วงที่เราไปถ่ายทำคอลัมน์ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม มองเห็นฟ้ามืดครึ้มมาแต่ไกล แต่ยังไง..ยังไง..ก็ไม่ตกครับ อาจมีเมฆมาบดบังแสงพระอาทิตย์บ้างเป็นบางเวลา ลมทะเลและแสงแดดแข่งกันได้อย่างดีครับ

ขั้นตอนการทำเกลือก็ไม่ใช่ง่ายๆ เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นนา ใช้รถปรับดินให้แน่นเรียบ แปลงหนึ่งประมาณ 1 ไร่ ระหว่างแปลงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ตอน เรียกว่า นาตาก นาเชื้อ และนาปลง แต่ละนาจะทำพื้นที่ลดระดับลงมาเรื่อยๆ นาตากจะเป็นนาที่ระดับสูงสุดและอยู่ใกล้น้ำทะเล เพื่อความสะดวกในการระบายน้ำเข้านา ระยะเวลาขั้นตอนการทำนาเกลือประมาณ 45-50 วัน ขึ้นอยู่กับความถ่วงจำเพาะของน้ำ เมื่อน้ำถูกปล่อยเข้าสู่นาปลงจะใช้เวลา 9-10 วัน เพื่อให้เกลือตกผลึกได้ที่ จึงต้องมีการระบายน้ำและตรวจเช็คความเข้มข้นของน้ำเกลือทุกวัน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานคนกันแล้ว เริ่มจากการขูดเกลือให้ขึ้นมาจากหน้าดิน เรียกว่า แซะเกลือ จากนั้นก็โกยเกลือมาทำเป็นกองๆ ไว้ เพื่อให้น้ำเกลือระเหยและสะดวกในการตรวจนับค่าแรงเวลาจ้างเหมาหาบเกลือเข้ายุ้ง แต่ละขั้นตอนทำคนละวัน เพราะแดดแรง อากาศร้อน คนทำงานใช้แรงก็หายากขึ้น แถมขั้นตอนสุดท้าย การหาบเกลือ เรียกว่างานหนักสุดๆ หนึ่งกองเกลือต้องหาบกันถึงสามเที่ยวจึงจะหมด เหมากันเป็นแถวๆ โดยวิธีการจับฉลาก ไม่ต้องมาแย่งกันเธอแถวใกล้ ฉันแถวไกล ยุติธรรมทุกคน ชวนลูก ชวนหลาน พี่ น้องมาช่วยกันทำ ทำเสร็จไว้ก็ได้เงินไว อุปกรณ์หลักก็จะเป็นหาบ ที่โกยเกลือ และรองเท้าพิเศษ พื้นทำมาจากยางรถสิบล้อ เย็บติดกับถุงเท้าคู่ยาว เพื่อช่วยไม่ให้เกลือบาดส้นเท้าแตก บางคนทำเอง บางคนก็ซื้อแบบสำเร็จรูป แต่ทุกคนต้องใส่ครับ วันที่เราไปเจอเด็ก 8 ขวบมาช่วยแม่ด้วย ใช้บุ้งกี้อันเล็กเหมาะกับขนาดตัว หาบได้อย่างแข็งขัน น่าชื่นชมมากครับ รู้จักช่วยพ่อแม่ทำมาหากินอย่างนี้ น่าภาคภูมิใจ … เราเป็นนักท่องเที่ยวภาพที่ออกมาจึงดูเป็นความสวยงามของวิถีชีวิตชาวนาเกลือ แต่สำหรับชาวนาเกลือเอง นี่คงเป็นอีกหนึ่งงานหนักที่ต้องทำเพื่อการเลี้ยงดูให้ทุกชีวิตในครอบครัวมีอยู่ มีกิน และมีความสุขเล็กๆ จากการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันครับ

  

ชาวนาเกลือที่บ้านแหลมอัธยาศัยดีมากๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความร่วมมือในการถ่ายรูปและตอบคำถามทุกข้อสงสัย แถมพาไปดูดอกเกลือด้วย ผมก็เพิ่งรู้ครับว่าดอกเกลือจะอยู่ตามจุดที่ลมพัดเข้ามาตามขอบมุมต่างๆ ถ้ามาในวันแดดดีๆ แสงพระอาทิตย์กระทบเกล็ดเม็ดเกลือ สวยสุดยอดครับ ในเกลือสมุทรมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายถึง 24 ชนิด แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดีเช่นกัน มากไป น้อยไปก็ไม่ดีแน่

บนถนนเส้นนี้มีช่องทางเฉพาะสำหรับนักปั่นจักรยาน และจุดชมวิวพร้อมป้ายอธิบายเป็นระยะ เมื่อเสร็จจากชมนาเกลือกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็ขับรถล่องมาเรื่อยๆ ก็จะถึงแยกเข้าหาดเจ้าสำราญ ขับมาอีกประมาณ 10 กิโลฯ ก็จะถึงหาดปึกเตียน มีจุดชมวิวสวยๆ ให้เข้าไปแชะถ่ายรูปเช็คอินบริเวณริมหาด ขับเลยต่อมาจากจุดนี้อีกประมาณ 18 กิโลก็จะพบกับจุดหมายปลายทางค่ำคืนนี้ของเราที่ หาดชะอำ หาดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมิขาดสาย ชายหาดไม่ลาดชันมากเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ปิกนิกเบาๆ กินอาหารทะเลสดๆ เป็นจุดนัดสังสรรค์วันหยุดสำหรับเพื่อนฝูงหรือสมาชิกในครอบครัว หาดทราย สายลม และท้องทะเลที่นี่ไม่เคยทำให้เราผิดหวังครับ

ผมขอจบเส้นทางลัดความสุข “บางตะบูน” จากนาเกลือสู่ชายหาดชะอำไว้แต่เพียงเท่านี้นะครับ ใครสนใจวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้ ก็ลองตามรอยคู่หูเดินทางแวะชม แวะชิม แวะช้อปของอร่อยกันได้ตามสะดวก … แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

การเดินทาง

  • โดยรถยนต์ส่วนบุคคล

โดยใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ขับผ่านมหาชัย แม่น้ำท่าจีน ดอนหอยหลอด แม่น้ำแม่กลอง เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านคลองโคน ขับไปตามทางผ่านบางตะบูน (ทางหลวงหมายเลข 4012) อ.บ้านแหลม (ทางหลวงหมายเลข 4028) หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน และหาดชะอำ

  • โดยรถโดยสารสาธารณะ

สอบถามรายละเอียดเส้นทางที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

 36,172 total views,  5 views today

Comments

Share.

Leave A Reply

Exit mobile version