อาการ Presbyopia หรือสายตายาวตามอายุ เกิดขึ้นได้กับทุกคน เรามารู้จักแนวทางการรับมือกับมันแต่เนิ่น ๆ กันดีกว่า 

ปกติดวงตาของคนเราสามารถมองเห็นชัดได้ในหลาย ๆ ระยะ โดยจะมีการปรับโฟกัสให้ชัดได้ทั้งระยะไกลและใกล้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นในวัยที่อายุใกล้ 40 ปีหรือมากกว่านั้น กล้ามเนื้อตาจะเริ่มมีการเสื่อมสภาพลงตามวัยและเลนส์ตาแข็งขึ้น เป็นภาวะความผิดปกติของกระบวนการเพ่ง (Accommodation) ที่เลนส์ตาเริ่มทำงานได้ไม่ดี จนไม่สามารถช่วยปรับโฟกัสเพื่อเพ่งมองวัตถุในระยะใกล้ได้ จึงต้องเริ่มพึ่งพาแว่นสายตายาวมาใช้เพื่อให้มองใกล้ได้ดี

อาการสายตายาวตามอายุเป็นอย่างไร 

+ มองระยะใกล้ ประมาณ 40 เซนติเมตรไม่ชัด ทั้งที่เดิมเคยอ่านชัดเจนมาก่อน หรือจะชัดต่อเมื่อต้องพยายามเพ่งมากขึ้น และมักเกิดอาการไม่สบายตา ทำงานหรืออ่านหนังสือได้ไม่นานเท่าเดิม ตาล้าง่ายขึ้น

+ มองได้ชัดขึ้นถ้ายื่นมือถอยห่างออกจากระยะเดิมที่เคยอ่านได้ออกไปอีก

+ หากมีสายตาสั้นอยู่เดิมจะต้องถอดแว่นตาออกถึงจะมองใกล้ชัดเจน

การรักษาสายตายาวตามอายุ 

การใส่แว่นสายตา (ยาว) 

ถ้าเดิมสายตาปกติ ไม่เคยใส่แว่นมาก่อน วิธีแก้ไขคือ ใส่แว่นสายตายาว (กำลังเป็นบวก) เฉพาะเวลาต้องการอ่านหนังสือหรือดูระยะใกล้

ถ้าเดิมสายตาสั้น ยาว หรือเอียง และใส่แว่นแก้สายตาเพื่อมองไกลอยู่แล้ว แต่เริ่มใส่แว่นอันเดิมนี้มองใกล้ไม่ได้ วิธีแก้ไขคือ

1. ตัดแว่นมองใกล้เพิ่มอีกหนึ่งอัน เพื่อไว้มองใกล้ ส่วนอันเดิมไว้มองไกล อาจไม่สะดวกที่ต้องใส่ ๆ ถอด ๆ

2. ใช้แว่นเดียวที่มีสองกำลังในอันเดียวกันหรือเลนส์ 2 ชั้น (Bifocal) แว่นจะเห็นเป็นเลนส์ 2 ส่วนในแว่นเดียว เห็นรอยต่อ จะมองเห็นชัด 2 ระยะคือ มองไกลและมองใกล้ ซึ่งมีกำลังต่างกันใน 2 ส่วนนี้

3. ใช้แว่นเดียวที่เป็นเลนส์ที่มีหลายกำลังเรียกว่า เลนส์ชัดหลายระยะแบบไร้รอยต่อ (Progressive Lens) แว่นแบบนี้เลนส์ส่วนบนไล่ลงมาส่วนล่าง มีค่าสายตาไล่ระดับเพื่อให้ส่วนล่างมองใกล้ได้ ส่วนบนไว้มองไกล แต่จะไร้รอยต่อ คือดูเหมือนเป็นเลนส์ชิ้นเดียว มองได้ชัดทุกระยะตั้งแต่ใกล้ กลาง ไกล เหมือนมีแว่นหลายตัวอยู่ในแว่นเดียวกัน ทำให้มองเห็นได้หลาย ๆ ระยะ

การใส่คอนแทคเลนส์ 

เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบใส่แว่น อาจลองใช้วิธีนี้ หากเดิมใส่เพื่อแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง เพื่อให้มองไกลชัดจะต้องใส่แว่นสายตายาวเพื่อมองใกล้จึงจะเห็นได้ชัดเจน ยังมีอีกทางเลือกคือ

1. เปลี่ยนเป็นใช้คอนแทคเลนส์ที่แก้สายตายาวได้ (Bifocal หรือ Multifocal Contact Lens) โดยจะมีการเลือกใส่ตาเด่นและตาด้อยในรูปแบบต่างกัน

2. เปลี่ยนกำลังของคอนแทคเลนส์ โดยใช้หลักการตาเด่นใช้มองไกล ตาด้อยใช้มองใกล้ (Monovision) โดยในตาข้างที่เป็นตาด้อยจะปรับกำลังเพื่อใช้มองใกล้ ส่วนข้างที่เป็นตาเด่นยังคงใช้คอนแทคเลนส์กำลังเดิม ต้องอาศัยการปรับตัวและใช้ตาสองข้างร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะวิธีไหน หากเริ่มมีอาการต้องยืดแขนออกไปเพื่ออ่านหนังสือ ลองปรึกษาแนวทางการแก้ไขกับนักทัศนมาตร เพื่อสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดีของคุณ

Photo: pexels.com

 1,433 total views,  2 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version