อะไรที่มากเกินไปมักจะให้โทษแก่ร่างกายเสมอ รวมถึง “ความเครียด” ด้วย แม้ความเครียดในระดับที่พอดีจะทำให้เราตื่นตัว ได้ฝึกคิดแก้ปัญหา แต่ถ้ามีความเครียดที่มากเกินไปสะสมจนเครียดเรื้อรังและไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างมหาศาล
ความเครียด มีผลกระทบต่อร่างกายตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น มีกลิ่นปาก นอนไม่หลับ จนถึงปวดหัวไมเกรน เครียดลงกระเพาะ สมรรถภาพทางเพศลดลง และยังเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่าง ๆ ที่บางครั้งไม่รู้ตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า และยังส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง หากมีความเครียดเรื้อรัง
มีผลการวิจัยที่บริษัทประกันภัยชื่อดังทำร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุภาพแห่งภูมิภาคเอเชีย ได้สำรวจคนจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อังกฤษ, สหรัฐอาหรับอามิเรตส์, สหรัฐอเมริกา และไทย พบว่า คนในประเทศดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ดูแลสุขภาพตัวเอง เนื่องมาจากปัญหาความเครียดเรื้อรังที่สูงมาก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ที่มีค่าใช้จ่ายในด้านนี้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
จากผลการวิจัยนี้ยิ่งเห็นชัดเจนว่า ความเครียดมีผลต่อสุขภาพร่างกาย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญด้านปัญหาสุขภาพที่มีผลมาจากความเครียดว่ามีผลกระทบต่อประชากรโลก ดังนั้นเราจึงต้องมีการจัดการกับความเครียดเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะตามมาภายหลัง ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยเริ่มจาก ทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ คิดในแง่บวกหรือลองมองมุมในหลายมิติ เพื่อให้เห็นข้อดีของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จะช่วยลดความเครียดให้สมองได้ และเมื่อปรับความคิดปรับจิตให้คิดดีแล้ว อย่าลืมเติมสิ่งดี ๆ อย่างอาหารที่มีประโยชน์ให้แก่ร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี และอย่าลืมปรับสมดุลชีวิตโดยการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ความเครียดก็จะบรรเทาลงมากแล้ว
Photo: pexels.com

 1,185 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version