จังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดในภาคกลาง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย และเมื่อเอ่ยถึงชื่อจังหวัดอุทัยธานีหลายคนคงจะนึกถึง “วัดท่าซุง” หรือ “วัดจันทราราม” ที่มีวิหารแก้วอันงดงาม ตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเล็กๆ สะท้อนแวววับระยิบระยับสวยงามตา ซึ่งภายในวิหารแก้ว 100 เมตรนั้น ด้านหนึ่งจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราชจำลอง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นโลงที่บรรจุสังขารขององค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชมหาวีระ ถาวาโร) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงและชาวอุทัยธานีให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จังหวัดอุทัยธานียังเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัด คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้วย ทำให้ที่นี่เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อปี พ.ศ. 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ด้วย
อันนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้หลายคนคุ้นหูกับชื่อของจังหวัดอุทัยธานี แต่วันนี้คู่หูเดินทางจะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับเส้นทางธรรมชาติจากอำเภอบ้านไร่ไปยังอำเภอเมืองอุทัยธานี ที่ยังมีของดีของเด็ดน่าเที่ยวอีกเยอะ กับ “อุทัยทริป 2 วัน 1 คืน” นอนเล่นชิลล์ๆ ริมน้ำ ตามหา “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ซึ่งพบได้เพียงแห่งเดียวในโลกที่ประเทศไทย ณ หุบป่าตาด
เริ่มต้นวันแรกเราออกเดินทางช่วงสายๆ จากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี และต่อไปยังอำเภอด่านช้าง บนเส้นทางหมายเลข 333 จนถึงสามแยกด่านช้าง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3011 มุ่งหน้าไปยังอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ผ่านตัวอำเภอไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายแรกของเรา “ต้นไม้ยักษ์” ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านสะนำ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ เป็นหมู่บ้านชาวลาวเวียงที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อหลายร้อยปีก่อน

“ต้นไม้ยักษ์” หรือ “ต้นผึ้ง” (ต้นเชียง) เป็นไม้เนื้ออ่อน มีอายุราว 300 – 400 ปี เดิมทีเป็นของพ่อตาของ นายเฮียง ชาวป่า เมื่ออายุ 22 ปี ได้แต่งงานกับภรรยา และได้ขอพ่อตาว่าอย่าได้ขายต้นไม้ต้นนี้ให้ใคร ตนจะขอดูแลเก็บรักษาไว้ในชุมชนเพื่อให้ลูกหลานชนรุ่นหลังได้เก็บไว้ดู เพราะต้นไม้ใหญ่ๆ ที่มีอยู่ในหมู่บ้านก็ถูกโค่นไปเกือบหมดแล้ว
ลักษณะเด่นของต้นไม้ยักษ์คือ มีความสูงประมาณ 70 เมตร วัดเส้นรอบวงแนบตามพูพอนหรือรากที่ยื่นออกมาจะได้ประมาณ 97 เมตร ขนาด 40 คนโอบ เป็นต้นไม้ที่เป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชาวไทยเชื้อสายลาว ยืนต้นตระหง่านเคียงข้างศาลเจ้าบ้าน แวดล้อมไปด้วยป่าหมากมากมายมหาศาล และยังได้รับการคัดสรรให้เป็น 1 ใน 65 ต้น ในการจัดพิมพ์หนังสือ “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี”
ต้นไม้ยักษ์นี้อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลที่อนุญาตให้คนทั่วไปได้เข้าชมฟรี เพียงแต่ถ้าใครพอจะมีจิตศรัทธาก็สามารถบริจาคเงินที่ตู้บริจาคได้ เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ให้ต้นไม้ยักษ์ต้นนี้อยู่คู่กับบ้านสะนำไปอีกนานแสนนาน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติชมต้นไม้สายพันธุ์อื่นๆ อาทิ ต้นกาบาท ต้นไทรโอบ ต้นมะกอกยักษ์ ต้นยางนา และต้นยางน่อง
เมื่อมาถึงบริเวณทางเข้าชมต้นไม้ยักษ์ ด้านหน้าจะเป็นลานจอดรถ มีจักรยานให้เช่าปั่นไปชมด้านใน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ คันละ 10 บาท หรือใครจะเดินเข้าไปเองก็ได้ เพราะระยะทางไม่ไกล เพียง 100 เมตรเท่านั้น ตลอดระยะทางเดินสองฝั่งจะเป็นร้านขายของชาวบ้าน ที่มีทั้งผักสด ผลไม้ ของกิน ของใช้ ให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นการช่วยเหลือชุมชนให้อยู่แบบพึ่งพาตนเองได้
ทุกวันนี้ “ต้นไม้ยักษ์” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่ใครมาอำเภอบ้านไร่ต้องมาเยือน หรือใครสนใจจะสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านสะนำอย่างใกล้ชิด ที่นี่ก็มีโฮมสเตย์รอต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

เสร็จจากจุดนี้แล้วเดินทางไปต่อกันที่จุดเช็คอินที่สอง “ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์” ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 บ้านปางสวรรค์ ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จุดนี้ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเปิดใหม่ ห่างจากต้นไม้ยักษ์ 20 กว่ากิโลฯ เมื่อมาถึงแล้วเป็นต้องร้องว้าวววว… ถูกใจคนชอบถ่ายรูปแน่นอน มีมุมสวยๆ เก๋ๆ ให้เลือกโพสต์ท่าเพียบ จะถ่ายมุมบน มุมล่าง มุมข้างๆ ก็ได้หมด ลักษณะจะเป็นฝายกั้นน้ำล้น เมื่อไหลลงมาจึงกลายเป็นม่านน้ำตกเล็กๆ ก่อนไหลไปสู่เทือกสวนไร่นาของชาวบ้านด้านล่าง ตรงส่วนนี้นี่แหละที่เป็นจุดไฮไลท์ โพสต์ท่าได้แบบไม่ต้องอายใคร จะนั่งเล่น นอนเล่น แช่น้ำให้เย็นฉ่ำชื่นใจก็ทำได้ตามสบาย โดยสามารถขับรถไปจอดใกล้ๆ แล้วเดินลงไปถ่ายรูปได้เลย (แนะนำให้ถอดรองเท้าไว้ด้านบน) สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้น้ำเยอะจะสวยมาก แต่ถ้าน้ำมากไปก็ลงไปถ่ายรูปไม่ได้นะจ๊ะ และถ้าใครยังอินและฟินไม่สุดสามารถหาที่พักใกล้ๆ บริเวณนี้ก็ได้ เราแนะนำ “ไร่เขาโอบเรา” วิวสวย บรรยากาศดี สถานที่สะอาด ที่สำคัญเจ้าของอัธยาศัยดี ติดต่อได้ที่ คุณตุ้ม โทร. 093 928 2515

จบจากจุดนี้ก็สี่โมงกว่าแล้ว เราจองที่พัก “อยู่แพ” แพสเตย์สุดชิคริมแม่น้ำสะแกกรังในตัวเมืองจังหวัดอุทัยธานีไว้ คืนนี้กะจะนอนชิลล์สัมผัสกับบรรยากาศการอยู่บนเรือนแพสักหน่อย จากฝายกั้นน้ำปางสวรรค์ขับเข้าตัวเมืองประมาณ 80 กว่ากิโลฯ ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ ถึงที่พักเข้าเช็คอินเก็บข้าวของเรียบร้อย

ก็ต้องรีบไปเดินเที่ยวที่ “ถนนคนเดินตรอกโรงยา” เป็นตลาดเก่าบ้านสะแกกรัง สองฝากข้างตลอดแนวทางเดินจะเป็นบ้านไม้เรือนแถวสองชั้นที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เหลือกลิ่นอายของวันวาน โดยถนนคนเดินจะมีเฉพาะวันเสาร์เท่านั้น ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็นจนถึงประมาณสองทุ่ม มีทั้งของกิน ของใช้ ต้นไม้ อาหารคาวหวานมากมาย แต่ที่ห้ามพลาดคือ “หมูสะเต๊ะคุณอ้อ” ไม้ละ 5 บาท หมูเนื้อนุ่น รสชาติอร่อย น้ำจิ้มเข้มข้น และยังคงใช้เตาถ่านปิ้งหมู ร้านตั้งอยู่ปลายสุดถนนคนเดินพอดี แต่ที่เรารู้ว่าขายดีคือสังเกตจากเตาปิ้งที่เยอะและยาวมาก หยิบหมูใส่ถุงกันแทบไม่ทัน

เดินออกจากถนนคนเดินไปทางหอนาฬิกาไม่ไกลนักจะเจอ “ร้านเจ้ดา ปลาลวก” มื้อเย็นนี้เราฝากท้องไว้ที่ร้านนี้ อาหารอร่อย ราคาไม่แพง ลูกค้าแน่นร้านตลอด โดยมีเมนูแนะนำ คือ ปลาแรดลวก ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียมพริกไท ยำปลาสลิด และผักหวานไฟแดง นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ ให้เลือกชิมอีกมาก ร้านเปิดเวลา 16.30 – 23.00 น. โทร. 056 571 409
ถ้ายังอิ่มไม่พอเราขอแนะนำให้เดินข้ามไปฝั่งตรงข้ามจะเป็นร้าน “น้ำเต้าหู้ไซ้จันทร์” มีน้ำเต้าหู้มากมายหลายรสชาติให้เลือก เป็นน้ำเต้าหู้ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้มีรสชาติแปลกใหม่ โดยที่ไม่ทิ้งรสชาติน้ำเต้าหู้และกลิ่นถั่วเหลืองแบบดั้งเดิม เช่น น้ำเต้าหู้ชาเขียวญี่ปุ่น น้ำเต้าหู้โอวัลติน หรือน้ำเต้าหู้โกโก้ เป็นต้น จะทานคู่กับปาท่องโก๋จิ้มสังขยาก็ได้ ทานแบบทรงเครื่องก็ดี อร่อยเข้มข้นทุกแก้ว

เช้าวันที่สองตื่นมารับแสงแดดอ่อนๆ นั่งทานอาหารเช้าไปพร้อมชมวิวหน้าที่พัก ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ไม่ต้องเร่งรีบ ถ้าใครสนใจจะไปใส่บาตรบริเวณท่าน้ำหน้าเทศบาลก็ได้ ในเวลา 7 โมงเช้าทุกวันเสาร์ จะมีพระสงฆ์พายเรือข้ามมาจากวัดอุโบสถาราม (วัดโบสถ์) ฝั่งตรงข้ามเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใส่บาตรเพื่ออิงกับวิถีชีวิตในสมัยก่อนที่ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
เราพักผ่อนนั่งดูน้ำนอนดูฟ้าจนเพลินใจแล้วก็เก็บกระเป๋าพร้อมออกเดินทางกันแล้ว วันนี้จุดหมายแรกเราจะไปหน้าตลาดเทศบาลเพื่อจะเดินข้ามฝั่งไปยัง “วัดอุโบสถาราม หรือวัดโบสถ์” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังบนเกาะเทโพ สร้างตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2324 โดยมีโบสถ์ วิหาร มหาสถูปสามสมัย และมณฑปแปดเหลี่ยม สถาปัตยกรรมผสมผสาน ไทย-ตะวันตก ตั้งตระง่านโดดเด่นอยู่บริเวณริมแม่น้ำ จากนั้นเราก็ติดต่อเรือนำเที่ยวเพื่อพาล่องชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ค่าบริการคนละ 50 บาท พร้อมบรรยาย แถมมีขับเสภาให้ฟังด้วยนะ เรียกว่าอินกับบรรยากาศสุดๆ การล่องเรือครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตชาวแพที่เรียบง่าย ชาวแพส่วนใหญ่จะมีอาชีพประมง จับสัตว์น้ำไปขายในตลาด และจะนิยมปลูกต้นเตยหอม ผักบุ้ง และดอกพุทธรักษา เรามองเข้าไปในเรือนแพแต่ละหลังก็จะเห็นว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ทั้งเครื่องซักผ้า ตู้เย็นและทีวี ทางเทศบาลไม่อนุญาตให้มีการสร้างเรือนแพเพิ่มเติมแล้ว จะคงอยู่ก็แต่เพียงคนดั่งเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในเรือนแพเท่านั้น เราขอบอกว่าการนอนเรือนแพนั้นสบายมากๆ น้ำนิ่ง เงียบสงบ หลับสนิทตลอดทั้งคืนเลย (บริการเรือนำเที่ยวติดต่อ คุณยุทธ โทร. 086 9316837)

จบอาหารคาวก็ไปต่ออาหารหวานที่ “บ้านจงรัก” ร้านนี้ไม่ธรรมดาเป็นบ้านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทางเจ้าของบ้าน “คุณศิลป์ชัย เทศนา” ทายาทคนปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ไว้ ด้านล่างจัดให้เป็นพื้นที่ของร้านกาแฟ ส่วนด้านบนจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม” ที่สะสมของเก่าตั้งแต่สมัยโบราณครั้งอดีต มีห้องนอน ห้องครัว และห้องรับแขก รวมถึงมุมโต๊ะทำงาน ที่เราสามารถโพสต์ท่าถ่ายรูปได้ตามสบายระหว่างรอขนมและเครื่องดื่ม (ร้านกาแฟ เปิด เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 07.30 – 17.00 น. / พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม เปิด เสาร์ – อาทิตย์ 09.00 – 17.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม)

เสร็จสรรพจากจุดนี้ก็ไปปิดทริปกันที่ “หุบป่าตาด” เพื่อไปตามหา “กิ้งกือมังกรสีชมพู” (สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration : IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกา และการค้นพบฟอสวิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐอเมริกา) จริงๆ แล้วถ้าเมื่อวานเรามาเร็วไม่ติดฝนก็สามารถมาเที่ยวที่หุบป่าตาดได้เลย เพราะเป็นการขับรถย้อนกลับไปทางเดิม แต่หุบป่าตาดจะอยู่ที่อำเภอลานสัก ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 40 กิโลฯ
หุบป่าตาด อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน และได้ถูกประกาศจากกรมอุทยานแห่งชาติให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลกตาด้วยพันธุ์ไม้หายากมากมายหลายชนิด เช่น เต่าร้าง เปล้า คัดค้าวเล็ก ขนุนดิน เป็นต้น โดยหุบป่าตาดมีลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่ที่ภายในคือผืนป่าที่เต็มไปด้วยต้นตาดและพันธุ์พืชโบราณแปลกตา และความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้จึงทำให้มีสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ โดยเฉพาะ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ซึ่งสามารถพบได้เฉพาะที่หุบป่าตาดแห่งนี้ที่เดียวในโลก
ระยะทางเดินไม่ไกล ไป-กลับ เพียง 700 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เมื่อเดินผ่านทางเข้าขึ้นมาตามขั้นบันไดสักระยะ จะเป็นปากทางเข้าโถงถ้ำที่มีความมืด ต้องใช้ไฟฉายส่องสว่างนำทาง ด้านบนโถงถ้ำจะมีค้างคาวเกาะอยู่ เดินไม่ถึง 10 นาทีก็จะเห็นแสงสว่างจากปลายทางอีกด้าน เหมือนเราเดินทะลุมิติออกไป เพราะบริเวณด้านหน้าที่เราเห็นนั้นจะมีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น มีความหนาทึบของต้นไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะต้นตาด พืชตระกูลปาล์ม มีลักษณะใบเป็นเส้นแฉก ต้นนึงจะมีอายุประมาณ 23 ปี ออกลูกเพียง 1 ครั้งแล้วก็ตาย นอกจากนี้ยังมีไม้ป่าสายพันธุ์อื่นอีกที่ขึ้นแทรกซ้อนอยู่ระหว่างทาง จากจุดนี้เราก็เดินไปเรื่อยๆ พยายามสอดส่องมองหากิ้งกือมังกรสีชมพู โดยให้น้องมัคคุเทศก์น้อยช่วยหาด้วย … ในที่สุดเราก็หาเจอ แต่ยังตัวเล็ก คล้ายๆ เกสรดอกไม้ ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร สีชมพูสด มีปุ่มหนามคล้ายมังกร แต่เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู เป็นต้น
การมาเที่ยวชมธรรมชาติแบบนี้ ควรดูแต่ตา มืออย่าต้อง ของจะเสีย ปล่อยให้สัตว์โลกเหล่านี้ได้มีวิถีชีวิตปกติ แค่ออกมาอวดโฉมให้เราได้เห็นบ้างก็พอ และถ้าใครอยากมาเจอกิ้งกือมังกรสีชมพู ต้องมาให้ช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน เท่านั้น
ฟินไปแล้วกับการได้เจอกิ้งกือมังกรสีชมพูตามหวัง แต่การเที่ยวหุบป่าตาดยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อเราเดินเข้าไปเรื่อยๆ จะเจอกับโถงถ้ำอีกหนึ่งถ้ำ ลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดสูงใหญ่ มีหินงอก หินย้อย หินปูน ตามลักษณะของถ้ำทั่วไป ระยะทางสองฝั่งห่างกันประมาณ 50 เมตร แสงสว่างหน้า-หลังจึงส่องถึงกันได้ ไม่มืด มีมุมสวยๆ ให้เลือกถ่ายรูปอวดโลกโซเชียลเช่นกัน
ค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท พร้อมไฟฉาย 1 อัน ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีบริการมักคุเทศน์น้อยนำทางที่คอยเล่าเรื่องราวของป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้ ซึ่งค่าบริการก็สุดแล้วแต่เราจะให้ ถือว่าเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ
เป็นอันว่าจบครบถ้วนตามแพลนที่วางไว้ ใครสนใจจะตามรอย “อุทัยทริป 2 วัน 1 คืน” ก็ได้เลย เที่ยวง่ายๆ สะดวกใกล้ ไม่เหนื่อย แถมยังได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกด้วย

• รถโดยสารสาธารณะ
มีรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถตู้ร่วมบริการ ออกเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call center 1490 หรือ www.transport.co.th
• รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปอุทัยธานีได้หลายเส้นทาง ได้แก่

  1. จากทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกท่าน้ำอ้อยบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 เข้าทางหลวงหมายเลข 333 ข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร
  2. จากทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา ประมาณกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 334 และจากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 309 ไปตามเส้นทางข้ามสะพานจังหวัดอ่างทอง แล้วมาตามถนนหมายเลข 311 ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดชัยนาทที่อำเภอสรรพยา จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 3183 เข้าจังหวัดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร

 6,149 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version