ชวนเที่ยวประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” หนึ่งเดียวในโลก วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี

0

กลางเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วยกัน 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) และวัดถัดไปคือวันเข้าพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2562

“วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร หมายถึง สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ แห่งธรรม แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานั้นเอง หัวหน้าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้น นามว่า โกณทัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเข้าใจชัดแจ้งในพระธรรมที่ทรงแสดง มองเห็น ความเป็นธรรมดาของสังขารธรรม บรรลุโสดาปัตติผล และได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกของพระพุทธศาสนา ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา จึงเป็นทั้งวันระลึกถึงการแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า และเป็นวันที่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติกันในวันนี้คือ ช่วงเช้า เข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และหล่อเทียนพรรษาเพื่อนำไปถวายในวันรุ่งขึ้นคือ “วันเข้าพรรษา” ช่วงเย็น จะเป็นการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
สำหรับ “วันเข้าพรรษา” เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เพื่อไม่ให้พระสงฆ์จาริกไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาให้เสียหายในฤดูเพาะปลูก หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา” นั่นเอง
คู่หูเดินทางฉบับนี้จะขอเชิญชวนผู้อ่านไปเที่ยวกันที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ชมประเพณีอันมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกกับการตักบาตรดอกเข้าพรรษา ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2562 โดยมีกำหนดการดังนี้

 วันที่ 14 กรกฎาคม 2562

เวลา 07.30 น. จัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 7 แห่ง
เวลา 09.30 น. พิธีถวายเทียนพระราชทาน ณ พระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

 วันที่ 15 กรกฎาคม 2562

เวลา 08.30 น. พิธีถวายเทียนพรรษาจังหวัดสระบุรี จำนวน 68 ต้น ณ ศาลาการเปรียญวัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี
เวลา 13.00 น.ภาคบ่ายร่วมพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและชมขบวนแห่ถวายเป็นพุทธบูชา ชมขบวนพยุหยาตรา ขบวนเจ้าเมืองสระบุรี ขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนเทียนพรรษาจังหวัดสระบุรี ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนวัฒนธรรม การแสดงต่างๆ เวลา 17.00 น. พิธีย้อนตำนานสระบุรีสืบสานประเพณีหนึ่งเดียว “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” เปิดงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี จากนั้นขบวนอัญเชิญพระพุทธรูป ขบวนพระสงฆ์ลงจากมณฑป พุทธศาสนิกชนประกอบพิธีล้างเท้าพระ

 วันที่ 16 และ 17 กรกฎาคม 2562

พิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ รอบเช้า เวลา 09.00 น. รอบบ่าย 15.00 น. ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
สำหรับ “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน และเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายกระชาย สูงประมาณ 30 – 70 เซนติเมตร ลักษณะเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ส่วนดอกจะมีลักษณะโค้งทอดยาวสวยงามอ่อนช้อย ช่อหนึ่งยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร สีของกลีบประดับมีหลายสี ทั้งสีเหลือง สีขาว และสีชมพู ตรงกลางส่วนเกสรมีลักษณะเป็นสีเหลืองสดคล้ายรูปหงส์กำลังเหิน ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้น นี่คงเป็นที่มาของชื่อดอกเข้าพรรษานั่นเอง

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร 

ตั้งอยู่ที่บ้านพระพุทธบาท หมู่ 8 ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ห่างจากตัวเมืองสระบุรีประมาณ 28 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2167 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีปูชนียสถานสำคัญคือ “รอยพระพุทธบาท” ที่ประทับไว้บนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธ์คีรี รอยพระพุทธบาทมีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว ลึก 11 นิ้ว โดยพระเจ้าทรงธรรมทรงเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาได้มีการสร้างต่อเติมและบูรณะปฏิสังขรกันอีกหลายสมัย
ลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนมและมีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับมุกที่งดงาม มีความละเอียดอ่อนช้อยสมกับความเป็นไทยแท้ ในส่วนทางขึ้นของพระมณฑป เป็นบันไดนาคสามสาย ซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้วที่ทอดลงจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด มีลักษณะเป็นนาค 5 เศียร บริเวณเชิงบันไดด้านข้างจะเป็นศาลาเปลื้องพระภูษา สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อนขึ้นกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ในสมัยก่อน เมื่อมองจากมุมด้านล่างขึ้นไปตามแนวบันไดนาคเราจะได้เห็นภาพความงดงามของพระมณฑปทั้งองค์ และนี่คือมุมมหาชนที่คนนิยมมาถ่ายรูปกันด้วย
นอกจากนี้ บริเวณรายรอบพระมณฑปจะมีพระอุโบสถ เจดีย์ และพระวิหารต่างๆ ซึ่งเป็นศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาทิ วิหารคลังล่าง วิหารหลวงพ่อโตและพระป่าเลไลยก์ รวมถึงพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท (วิหารหลวง) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่า อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า ฯลฯ วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งปกติจัดให้มีปีละ 2 ครั้ง คือ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงแรม 1 ค่ำ และขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึงแรม 1 ค่ำ และช่วงงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติคนละ 30 บาท เวลา 08.30 – 16.30 น.
ถ้าใครวางแผนมาเที่ยวไม่ทันช่วงงานเทศกาลตักบาตรดอกพรรษาปีนี้ ก็สามารถแวะมาเที่ยวชมกราบไหว้สักการะรอยพระพุทธบาทเพื่อความเป็นสิริมงคลได้เช่นกัน โดยเรามีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมาแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวสายช้อป สายชิม และสายชิลรักษ์โลกด้วย

การเดินทาง

รถโดยสาธารณะ

มีรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เส้นทางกรุงเทพฯ – สรบุรี ตั้งแต่เวลา 05.00 – 19.00 น. ทุกวัน และบริการรถตู้โดยสารสาธารณะ เส้นทางกรุงเทพฯ – ลพบุรี ออกจากสถานีเดินรถโดยสารขนาดเล็ก (จตุจักร) จอดที่ปากทางเข้าวัดพระพุทธบาทฯ ตั้งแต่เวลา 04.00 – 20.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

รถยนต์ส่วนตัว

จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ขับตรงเข้าตัวเมืองสระบุรี เมื่อถึงแยกพุแคจะเป็นทางสามแยก ถ้าเลี้ยวขวาไปจะเป็นทางไปตลาดหัวปลี (กลับรถจุดยูเทิร์นแรกเพื่อชิดซ้ายเข้าตลาด) ถ้าจะไปสวนพฤษศาสตร์พุแค ให้ขับตรงไปจากแยกประมาณ 1 กม. อยู่ติดถนนด้านซ้ายมือ และถ้าจะไปวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 12 กม. จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดอยู่ด้านซ้ายมือ ขับเข้าไปอีก 1 กม. จะเจอวัด


 4,015 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version