พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน

0

ตั้งอยู่ในบริเวณวัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อยู่ทางด้านหลังของวัด ติดกับหอระฆังเก่าแก่ อายุกว่า 100 ปี เป็นบ้านเรือนไทยโบราณ มีชานด้านหน้ากว้างขวาง ถูกดัดแปลงให้เป็นที่จัดแสดงตัวหนังใหญ่ พร้อมมีป้ายบอกเล่าถึงตัวละครแต่ละตัวที่ได้แกะสลักลงบนหนังใหญ่ มีลวดลายอันอ่อนช้อยงดงาม แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ไทยอันทรงคุณค่าอีกอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างไว้ โดยมากตัวหนังใหญ่จะทำมาจากหนังโค นำมาฉลุหรือสลักเป็นตัวละครในเนื้อเรื่อง บางตัวมีความสูงถึง 2 เมตร กว้างเมตรเศษ แบ่งตามลักษณะ ท่าทาง และบทบาทตามแต่ละตัวละคร ซึ่งการสร้างตัวหนังแต่ละตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งความเพียร ความอดทน เทคนิคงานช่างที่ละเอียดอ่อนเพื่อให้ตัวหนังแต่ละตัวออกมาได้อย่างงดงาม
“หนังใหญ่” เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตรกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละครที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวและให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ การแสดงหนังใหญ่จึงมีคุณค่าทางศิลปะสูง และแสดงถึงอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยได้เป็นอย่างดี
ในทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น. จะเปิดการแสดงหนังใหญ่ ณ โรงละครหนังใหญ่ ให้คนที่มาเที่ยวได้ชมกันแบบสดๆ ได้อรรถรสสมจริง โดยเฉพาะเวลาการให้เสียงพากย์จะทำให้เรารู้สึกสนุกและตื่นเต้นตามเนื้อเรื่องไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำหนังใหญ่จากช่างฝีมือ เพื่อให้เด็กๆ รุ่นหลังได้ชม ถือว่าเป็นการสืบสานอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่สืบต่อไป

ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่
หนังใหญ่ถือเป็นมหรสพที่เก่าแก่ของไทย กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นับเป็นมหรสพที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ว่าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้แสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่และบทวรรณคดีที่ใช้ในเรื่องรามเกียรติ์ ใช้แสดงหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาเก็บไว้ ณ โรงละครแห่งชาติหลังเก่า แต่ถูกไฟไหม้เกือบหมด สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี

ประวัติหนังใหญ่วัดขนอน
หนังใหญ่วัดขนอน ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ผู้ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ. 2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 95 ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว นับเป็นสมบัติวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมา และเป็นเพียงวัดเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนัง และคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน
ตั้งอยู่ที่ วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120
เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น.
(เปิดการแสดงหนังใหญ่ ณ โรงละครหนังใหญ่ ทุกวันเสาร์ เริ่ม 10.00 น.)

 4,618 total views,  2 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version