“ช้าง” เป็นสัตว์บกที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวใหญ่ที่สุดในโลก ความใหญ่โตของร่างกายอาจทำให้บางคนกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ แต่ถ้าได้เรียนรู้และสัมผัสถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของเหล่าบรรดาช้างพวกนี้แล้ว เราขอบอกเลยว่า…ไม่รักไม่ได้แล้ว!
คู่หูเดินทางฉบับนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักและสัมผัสวิถีชีวิตช้างอย่างใกล้ชิด ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 11 สายลำปาง – ลำพูน ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 28 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ถ้ามาจากลำปางมุ่งหน้าขึ้นไปเชียงใหม่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะอยู่ด้านขวามือ สามารถเลี้ยวรถเข้าไปด้านในได้เลย
การเดินทางมาเที่ยวของเราครั้งนี้ตั้งใจมาพักค้างคืนที่ศูนย์ฯ เพราะที่นี่เค้าก็มีบริการห้องพัก 3 แบบ 3 สไตล์ จะเลือกเป็นแบบโฮมสเตย์ รีสอร์ท หรืออาคารที่พักก็ได้ สถานที่สะอาด บรรยากาศร่มรื่น ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาโอบล้อม เงียบสงบ เหมาะแก่การมาพักผ่อนแบบไม่เร่งรีบ หรือถ้าใครสนใจอยากฝึกเป็นควาญช้างที่นี่ก็มีโรงเรียนฝึกช้างและควาญช้างด้วยนะ
เราเลือกที่พักแบบโฮมสเตย์ เพราะจุดนี้จะมีช้างเดินผ่านในตอนเช้า เวลาที่ควาญช้างไปรับช้างออกจากป่า และใกล้กับลานกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้เห็นถึงวิถีชีวิตของช้างและควาญช้างตั้งแต่เช้าจรดบ่าย พาไปชมกันแบบเอ็กซ์คลูซีฟทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำอย่างใกล้ชิด
ปกติช้างทุกตัวในศูนย์ฯ เมื่อเสร็จการแสดงหรือกิจกรรมต่างๆ แล้ว เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง ควาญช้างก็จะนำช้างส่งกลับบ้าน คือการพาช้างไปผูกไว้ในป่า ซึ่งเป็นที่นอนของช้าง โดยผูกไว้ไม่ห่างกันมากเพื่อให้ช้างสามารถมองเห็นหรือพูดคุยกันได้ (ช้างก็ต้องมีเพื่อนนะ) แต่เป็นระยะที่โซ่คล้องขาช้างจะตึงพอดี ไม่สามารถเดินไปถึงตัวได้ และถ้าช้างพลายตัวไหนมีงางอกออกมาเป็นที่หน้าล่อตาล่อใจของโจร ควาญช้างก็จะนำช้างเชือกนั้นมาผูกไว้ใกล้บ้านของควาญ เพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ช้างจะนอนหลับวันละ 4 ชั่วโมง ประมาณห้าทุ่มถึงตีสาม โดยในบริเวณที่ช้างนอนจะมีแนวป้องกันไฟป่าพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
ช้างนั้นมีอายุขัยได้ถึง 100 ปี แต่ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของช้างอยู่ที่ 70 – 80 ปี ช้างที่โตเต็มวัยอายุประมาณ 25 – 35 ปี มีน้ำหนักเกือบ 3,000 กิโลกรัม ช้างจะกินอาหารในปริมาณ 10% ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 250 – 300 กิโลกรัมต่อวัน อาหารที่ช้างกินก็จะเป็น กล้วย อ้อย ข้าวโพด หญ้าบาน่า หญ้าเนียเปีย หญ้าแพงโกล่า และอาหารเม็ดสำหรับช้าง ซึ่งช้างที่อยู่ในศูนย์ฯ ทุกตัว จะมีฝ่ายโภชนาการอาหารช้างคอยดูแลและควบคุมปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป ส่วนโรคที่มักพบในช้างบ่อยๆ ก็คือ ท้องอืด ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และโรคเท้าอักเสบ เนื่องจากช้างชอบเล่นน้ำ และยืนอยู่ในที่ชื้นแฉะ บางครั้งอาจเดินไปเหยียบโดนเสี้ยนหนามตำเท้ามา ก็จะเกิดเป็นแผลอักเสบและติดเชื้อได้ อาการที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ ควาญช้างจะต้องเป็นคนคอยตรวจตราและสังเกตเสมอในทุกๆ เช้าที่ไปรับช้างออกจากป่า ตั้งแต่มูลช้างที่ถ่ายออกมาว่าแข็งหรือเหลวไปไหม มีอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อยหรือเปล่า และต้องตรวจเช็คเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าพบอาการเหล่านี้ ควาญช้างต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลช้างโดยด่วน และนั่งเฝ้าคอยดูอาการอย่างใกล้ชิด เพราะช้างจะเชื่อฟังคำสั่งของควาญช้างที่ดูแลเท่านั้น เหมือนเราไปเฝ้าญาติที่โรงพยาบาลอย่างไงอย่างงั้น นี่แหละคือตัวอย่างความผูกพันที่ช้างและควาญช้างมีให้ต่อกัน

เราเริ่มทัวร์สำรวจกิจกรรมประจำวันของช้างกันตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า โดยทางศูนย์ฯ อนุญาตให้เราเข้าไปรับช้างออกจากป่ากับพี่เดช ควาญผู้ดูแลช้างพังวังเจ้า (ช้างเพศเมีย เรียกว่า พัง ช้างเพศผู้มีงา เรียกว่า พลาย ช้างเพศผู้ไม่มีงา เรียกว่า สีดอ) ระหว่างทางเดินขึ้นไปก็จะมีเซอร์ไพรส์เล็กๆ น้อยๆ อาจเจอช้างเชือกอื่นๆ บ้าง แต่ไม่ต้องตกใจกลัวไป เพราะช้างทุกเชือกจะมีควาญช้างดูแล เมื่อเดินขึ้นมาถึงจุดที่ผูกพังวังเจ้าไว้ พี่เดชก็จะทำความสะอาดสถานที่ โดยการโกยมูลช้างออก ปัดกวาดให้พื้นที่เรียบโล่งสะอาดเหมือนเดิม ระหว่างที่ดูพี่เดชทำงาน เราก็ให้กล้วยพังวังเจ้ากินเพื่อสร้างความคุ้นเคย เมื่อทำความสะอาดพื้นที่เรียบร้อยแล้ว พี่เดชก็จะบอกให้พังวังเจ้าย่อตัวลงเพื่อกวาดเศษดินที่ติดอยู่ตามหัวและลำตัวออก แล้วตรวจดูเท้าทั้งสี่ข้างว่ามีบาดแผลหรือไม่ จากนั้นก็จะปลดโซ่ที่คล้องขาพังวังเจ้าออกแล้วพาเดินออกจากป่าเพื่อไปอาบน้ำที่อ่างน้ำธรรมชาติบริเวณด้านหน้าโรงช้าง ใช้เวลาเดินออกไปประมาณครึ่งชั่วโมงนิดๆ
ช้างแต่ละเชือกจะทยอยเดินออกมาจากป่าเรื่อยๆ ผ่านหน้าโฮมสเตย์แล้วเดินลงไปอาบน้ำที่อ่างอาบน้ำด้านหน้า เสร็จแล้วก็เข้าโรงช้าง ควาญช้างจะนำอาหารมาให้กินและดูแลความสะอาดอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 8 โมงเช้าของทุกวัน ควาญช้างจะต้องพาช้างไปออกกำลังกายบริเวณสนามหญ้าด้านหน้า ซึ่งจะมีท่าบังคับหันซ้าย หันขวา ย่อตัว ยกเท้า ฯลฯ โดยมีผู้นำบอกให้ทำท่าต่างๆ (เหมือนเราไปเต้นแอโรบิกตามสวนสาธารณะนี่แหละ แต่ช้างตัวใหญ่ทำได้ไม่กี่ท่า ดูแล้วก็น่ารักมากๆ) เสร็จแล้วก็จะเดินจับหางกลับมาที่โรงช้างเพื่อรอปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน โดยช้างที่อยู่จุดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นช้างแท็กซี่ เพราะมีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรง

จุดบริการนั่งช้างแท็กซี่ชมธรรมชาติ : เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.30 น. โดยมีให้เลือก 2 แบบ คือระยะทางใกล้ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ราคาเที่ยวละ 100 บาท และระยะทางไกลขึ้นมาอีกนิด มีเดินผ่านธารน้ำและขึ้นทางลาดชันบ้าง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ราคาเที่ยวละ 500 บาท สนุกสุดคุ้ม!

จากจุดนี้เจ้าหน้าที่พาเราไปดูความพร้อมหลังเวทีก่อนการแสดงบริเวณลานช้างรอบแรกจะเริ่มขึ้นในเวลา 10 โมงเช้า ช้างโชว์ก็ต้องออกกำลังกายเหมือนกันนะ ไม่มีข้อยกเว้น (แต่ถ้าป่วยก็งดได้) ช้างที่นำมาแสดงบริเวณลานช้าง จะต้องเป็นช้างที่สนิทกัน อยู่กันเป็นฝูง เพราะเวลาสั่งให้ทำอะไรก็จะทำไปในทิศทางเดียวกัน หากมีตัวไหนดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่งก็จะให้ไปเป็นช้างแท็กซี่แทน ช้างโชว์ส่วนใหญ่จะเป็นช้างเด็ก มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จนเกือบ 40 ปี ถ้าอายุมากก็จะให้ไปเป็นช้างแท็กซี่ และปลดเกษียณตอนอายุประมาณ 60 ปี เหมือนคนนะ (ใน 1 ชั่วโมงช้างจะเดินได้ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร และใน 1 วัน ช้างควรเดินให้ได้วันละ 20 กิโลฯ เพื่อเป็นการออกกำลังกาย และทำให้ช้างไม่เครียด การใช้งวงหยิบจับสิ่งของก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายเช่นกัน)
การเข้ามาดูด้านหลังเวทีทำให้เราได้เห็นถึงความผูกพันใกล้ชิดของช้างและควาญช้างมาก มีลุงควาญท่านหนึ่งบอกกับเราว่า เล่นกับช้างและดูแลช้างมากกว่าเล่นกับหลานชายของตัวเองซะอีก ช้างบางเชือกพอเดินผ่านอาหารที่วางไว้ของเชือกอื่นยังแอบเอางวงหยิบมากินเลย ควาญช้างต้องคอยห้าม บางเชือกก็แกล้งควาญตัวเอง หลอกให้เดินมาใกล้ๆ แล้วเปิดน้ำก๊อกใส่ให้ควาญเปียก แถมมีเสียงหัวเราะสะใจด้วยนะ… ช้างเด็กก็เหมือนเด็ก มีความขี้เล่นซุกซนเป็นธรรมดา แต่ทุกอย่างล้วนมากจากธรรมชาติใสๆ ไร้สิ่งเจอปน… น่ารักอะ
การแสดงช้างในแต่ละรอบจะเน้นแนววิถีชีวิตของช้าง การลากซุง การใช้งวงหยิบจับสิ่งของทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ใช้งวงดันท่อนซุง โยนลูกบอล วาดรูป หยิบหมวกใส่ให้ควาญ เคาะระฆัง การเดินเรียงแถว ฯลฯ ซึ่งการแสดงแต่ละชุดจะเน้นที่ความสามารถในด้านต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความฉลาด แสนรู้ น่ารัก ที่อยู่ในร่างอันใหญ่โตของช้าง ใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที เสร็จแล้วก็จะให้ช้างมายืนเรียงแถวชูงวงอยู่หน้าเวทีเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้ออาหารเลี้ยงช้างและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
การแสดงช้าง : มีวันละ 3 รอบ เวลา 10.00 น. 11.00 น. และ 13.30 น. และมีการแสดงช้างอาบน้ำวันละ 2 รอบ คือ ช่วงเช้า 09.45 น. และช่วงบ่าย 13.15 น. จากนั้นจะมีขบวนพาเหรดช้างนำเข้าสู่ลานจัดแสดงต่อไป
ค่าเข้าชม : คนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท / ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 170 บาท เด็ก 110 บาท
ค่าบริการรถซัตเตอร์บัส : ผู้ใหญ่ 25 บาท เด็ก 10 บาท (ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปด้านใน)

บริเวณด้านหน้าใกล้กับจุดจำหน่ายบัตรและลานจอดรด จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านคชบาลศาสตร์ อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับช้างตั้งแต่สมัยอดีตกาล ความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งช้างนอกจากจะเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติไทยแล้ว เรายังใช้ประโยชน์จากช้างในด้านต่างๆ อีก เช่น การขี่ช้างออกศึกสงครามในครั้งอดีต การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งในอุตสาหกรรมป่าไม้ด้วย
การได้เข้าชมนิทรรศการจะทำให้เราได้รู้ถึงความเป็นมาเป็นไปของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ช้างไทย และก้าวต่อไปเพื่อให้ช้างไทยอยู่คู่กับประเทศไทยเราตลอดไป

การมาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย นอกจากจะมาเที่ยวชมการแสดงของช้างและศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของช้างแล้ว เรายังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลช้างไทยได้ เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของ “โรงพยาบาลช้าง” รับดูแลรักษาช้างแก่ ช้างเจ็บป่วย และช้างที่ประสบอุบัติเหตุ ทั่วประเทศฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และรับบริจาคช้างที่ไม่มีใครดูแล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 054 829 331
และเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของช้างป่วยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้มีจัดตั้งโรงพยาบาลช้าง ที่อำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่ ขึ้นอีกหนึ่งแห่ง สอบถามรายละเอียด โทร. 075 656 923

การเดินทาง
• รถโดยสารสาธารณะ
มีรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th
• รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีและนครสวรรค์ จากนั้นเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 117 มุ่งหน้าสู่พิษณุโลกและทางหลวงหมายเลข 11 มุ่งหน้าสู่ถนนสายลำปาง – ลำพูน ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จะอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 28 ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 24 กิโลเมตร ด้านขวามือ
………………………………………………………………………………………………….
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ติดต่อสอบถามและสำรองที่พักได้ที่
โทร. 054 829 333, 054 829 322
www.thailandelephant.org/
www.facebook.com/elephantcenter

 

 5,543 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version