ปัจจุบันผู้คนในสังคมเมืองเผชิญกับความเครียดสะสมมากขึ้น ทั้งจากหน้าที่การงาน มลพิษสิ่งแวดล้อม การรับรู้ถึงข่าวหรือเรื่องราวชวนเครียดผ่านสื่อโซเชียลที่มีมากในแต่ละวัน ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดที่ทำให้เกิดโรคตามมา ลองสังเกตอาการของคุณดูสิว่ากำลังเข้าข่ายโรคร้ายเหล่านี้หรือไม่

• โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)
มีอาการซึมเศร้าแบบทั่วไป สาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด อาจเกิดจากความเครียดสะสม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การพบเจอกับเรื่องราวเลวร้ายในชีวิตที่กระทบต่อจิตใจ ซึ่งโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็สามารถทำให้พัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงในอนาคต

• ภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง (Major Depression)
ภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง หนึ่งในอาการของโรคอารมณ์แปรปรวนที่พบได้บ่อยเมื่อตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและจมอยู่กับความรู้สึกเศร้าโศกเป็นเวลานานกว่าคนปกติทั่วไป ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต อาจทำให้ผู้ป่วยประสบกับภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงได้โดยไม่มีสัญญาณหรืออาการใดๆ บอกกล่าวล่วงหน้า ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แม้กระทั่งหน้าที่การงานอีกด้วย ควรได้รับการบำบัดรักษาโดยไวเพื่อป้องกันอาการร้ายแรงเกินที่จะควบคุมได้

• โรคคลุ้มคลั่ง (Manic Episodes)
โรคคลุ้มคลั่ง มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ต่างจากปกติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะมีอาการนานถึง 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น จะมีอารมณ์ที่ครื้นเครงหรือหงุดหงิดได้ง่ายๆ โดยจะต้องมีอาการอย่างน้อย 3 ลักษณะ จากพฤติกรรมเหล่านี้
1. มีความมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น
2. นอนน้อยลง (นอนประมาณ 2 – 3 ชม. เท่านั้น)
3. พูดคุยมากกว่าปกติ
4. มีความคิดแล่นเร็ว
5. ทำตัวเด่นเพื่อเรียกร้องความสนใจโดยไม่จำเป็น
6. ทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นเป้าหมาย
7. ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองชอบมากขึ้นกว่าปกติ
โดยอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติด หากมีลักษณะดังกล่าวเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะวินิจฉัยให้ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ Bipolar Disorder

• โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
โรคอารมณ์สองขั้วจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มีความกระตือรือร้น และต้องการทำกิจกรรม ทำให้ใช้ชีวิตยากกว่าปกติ ผู้ที่เป็นจะมีอาการคลุ้มคลั่งและอาจจะไม่ได้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าเสมอไป อาการของโรคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในหลายๆ ด้าน เวลามีอาการคลุ้มคลั่งก็ปราศจากเหตุผล แต่เมื่ออยู่ในอาการซึมเศร้าก็จะมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูง

การมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นหากมีอาการเข้าข่ายตามที่กล่าวมา ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษาแบบทันท่วงที

 1,797 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version