หนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม บางคนก็รู้ตัว บางคนก็ไม่รู้ตัว ปล่อยปละละเลยอาการและสัญญาณเตือนเล็กๆ น้อยๆ จนอาการสะสมมากเกินกว่าจะรักษาได้ด้วยตนเอง ต้องไปพบแพทย์ทั้งเสียเวลาและเงินทอง ดังนั้นก่อนอื่นลองมาสังเกตร่างกายตนเองกันก่อนดีไหมว่ามีสัญญาณอาการเตือนเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
1.   ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ อาจจะเริ่มปวดโดยไม่ได้ทำอะไรหนักเป็นพิเศษ และอาจจะเริ่มปวดเรื้อรังนานขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 1-2 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากนั่งทำงานนานๆ โดยไม่ได้ขยับร่างกาย หรือนั่งในท่าเดิมๆ หรือเก้าอี้และโต๊ะอาจไม่อยู่ในลักษณะที่สมดุลกับร่างกาย
2.   ปวดศีรษะ หรือปวดหัวไมเกรนบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากความเครียดสะสม ใช้สายตาหนัก นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ และไม่เป็นเวลา
3.   มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค จากการพิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ หรือใช้งานเม้าส์กับคอมพิวเตอร์นานเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อกดทับประสาท เส้นเอ็นอักเสบ หรือเกิดพังผืดบริเวณนิ้วและมือได้

อันตรายของโรคออฟฟิศซินโดรม
   เสี่ยงต่ออาการหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกทับประสาท ซึ่งอาจเป็นขั้นหนักถึงกับต้องทำกายภาพบำบัด

วิธีหลีกลี้หนีไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรม
1.   ปรับความสูงของเก้าอี้ และโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับการนั่งพิมพ์งาน โดยที่ไม่เกิดอาการเมื่อย หรือต้องยกแขน ก้มหน้า มากจนเกินไป ระดับความสูงที่พอเหมาะ คือ แขนท่อนบนวางราบในระดับเดียวกันกับแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือโต๊ะทำงาน ไม่สูง หรือไม่ต่ำจนเกินไป หลังพิงพนักเก้าอี้ สายตาห่างจากจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 1 ฟุต
2.   แขนที่ใช้เม้าส์ควรวางระนาบไปกับที่พักแขนของเก้าอี้ได้เพื่อช่วยพยุงแขนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโต๊ะ หรือแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์
3.   ลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินไปเดินมาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ขยับร่างกาย ยืดเส้นยืดสายบ้าง พร้อมกับพักสายตาไปด้วยในตัว มองวิวนอกหน้าต่าง หรือมองต้นไม้สีเขียว ก็จะช่วยพักผ่อนสายตาและทำให้จิตใจผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

 1,934 total views,  1 views today

Comments

Share.

Comments are closed.

Exit mobile version