มุมสุขภาพ
 
 

+ตรวจมะเร็งเต้านม..เรื่องสำคัญของผู้หญิง

 
 

ถึงจะผ่านเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมอย่างเดือนคุลาคมกันมาแล้ว แต่ผู้หญิงทุกคนก็ไม่ควรละเลยการดูแลเต้านมของตนเองอยู่เสมอ รู้ไหมว่ามะเร็งเต้านมนั้นถือเป็นมะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุดในอังกฤษเลยทีเดียว และการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยรักษาชีวิตเอาไว้ได้ในอัตราที่สูงกว่า  ก่อนอื่นคุณต้องเรียนรู้ว่าเต้านมของคุณมีลักษณะอย่างไร และรู้สึกอย่างไรยามสัมผัส การจดจำลักษณะที่เป็นปกติได้จะช่วยให้คุณสังเกตความเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติดียิ่งขึ้น สาวๆ สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ในขณะที่คุณอาบน้ำ หรือยามทาโลชั่นเมื่อสวมใส่เสื้อผ้า ด้วยการคลำไปในทิศทางเดียวกัน ตรวจให้ครบทุกจุดของเต้านม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเต้านม รักแร้ รวมไปถึงตอนล่างของไหปลาร้าที่ต่อเนื่องกับบริเวณเนินอก หากเมื่อใดที่รู้สึกว่าขนาดและรูปทรงของเต้านมเปลี่ยนแปลงอย่านิ่งนอนใจ หรือหากมีอาการคัน มีผื่นขึ้น มีรอยแดงบริเวณหัวนม มีก้อนบวมแข็งหรือมีของเหลวไหลออกจากหัวนมทั้งที่ไม่ได้อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือแม้กระทั่งบริเวณรักแร้มีอาการอักเสบบวมโตก็เช่นกัน และหากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น คนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม อายุมาก ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงความรุนแรงของมะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้น

 
 

+ ความสะอาดลดความเสี่ยงในวิกฤติ

 
 

หลายคนอาจผ่านประสบการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่กันมา หรือบางคนอาจจะกำลังเผชิญปัญหานั้นอยู่ นอกจากการป้องกันบ้านช่องที่พักอาศัยให้คงความปลิดภัยแล้ว เรื่องสุขอนามัยก็ไม่ควรละเลยมองข้าม เพราะน้ำท่วมนั้นนำพาพาหะและเชื้อโรคต่างๆ มามากมาย ดังนั้นเราควรรักษาความสะอาดให้ได้มากที่สุด  หากน้ำดื่มบรรจุขวดขาดแคลนและเครื่องกรองน้ำของคุณไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ  ในการดื่มกินหรือนำมาประกอบอาหารนั้นแนะนำให้ทำการฆ่าเชื้อโรคในระดับหนึ่งก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแกว่งสารส้มให้ตกตะกอนทิ้งไว้ก่อนจะตักเฉพาะส่วนที่ใสด้านบนมาใช้ ในการแกว่งสารส้มนั้นใช้ระยะเวลาตามความสกปรกและสภาพน้ำนั้นเป็นสำคัญ หรือจะ  หยดด่างทับทิม หยดน้ำยาฆ่าเชื้อ ฯลฯ โดยก่อนดื่มและนำมาปรุงอาหารควรต้มให้เดือดเสียก่อน  ส่วนน้ำใช้อาจจะไม่ต้องใช้การต้มเพิ่มด้วยหากต้องการรักษาเชื้อเพลิงหุงต้มเอาไว้และใช้การหยดคลอรีนลงไปทำลายเชื้อโรคแทน  เพียงแต่ถ้าไม่มีน้ำจากก๊อกแล้วจำเป็นต้องตักใช้จากแหล่งน้ำท่วมขังจริงๆ ต้องเลือกตักจากแหล่งที่ไม่ใช่ ท่อน้ำทิ้งที่ใช้ระบายน้ำเสียหรือแหล่งทิ้งขยะในลำดับแรก  การล้างมือและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำท่วมขังก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคติดมาตามผิวหนังและเข้าสู่ร่างกายในที่สุด  ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่วิธีฆ่าเชื้อโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง  และอย่าลืมพยายามกำจัดน้ำท่วมขังออกจากที่อยู่อาศัยให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อป้องกันโรคที่มาจากยุงด้วย

 


 
 

+ลอง Raw Food Diet กันไหม

 
 

 

การรับประทานอาหารแบบ Raw Food Diet นั้นเป็นขั้นที่เหนือขึ้นไปอีกนอกเหนือจากการรับประทานอาหารรูปแบบมังสวิรัติและทานเจ โดยใช้วิธีรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนที่สูงกว่า 40 – 42 องศาเซลเซียส เพราะความเชื่อที่ว่าเอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการย่อยจะถูกทำลายเมื่ออาหารผ่านความร้อนที่สูงเกินไป ทั้งยังทำลายวิตามิน แร่ธาตุและสร้างความเป็นกรดให้อาหาร เมื่อรับประทานเป็นเวลานานกรดเหล่านี้จะทำลายสมดุลภายในร่างกาย ดังนั้นผู้ที่นิยมการทานอาหารรูปแบบนี้มักเลือกวิธีปรุงอาหารแบบ การอบโดยเตาอบที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และหากเคร่งครัดมากมักลด ละ เลิกการทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น นม เนย ไข่ รวมถึงอาหารแปรรูปและน้ำตาลฟอกขาวด้วย วิธีนี้ทำให้น้ำหนักลดได้เป็นอย่างดี เพียงแต่คุณต้องเลือกรับประทานให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของร่างกายของคุณควบคู่กันไปด้วย เพราะอย่างไรการเดินสายกลางนั้นย่อมดีที่สุด



 

 

+ฝนตกอากาศชื้นระวังเชื้อรา

 

     ในช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ  การสวมใส่ชุดชั้นในที่อับชื้นอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิด เชื้อราในช่องคลอด ได้ โดยเฉพาะการสวมใส่ชุดชั้นในที่ทำจากไนลอนที่ก่อให้เกิดความอับชื้นได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเชื้อราในช่องคลอดนี้มีทั้งแบบที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ซึ่งนอกจากอาการคันแล้วอาจยังมีตกขาวร่วมด้วย แล้วรู้หรือไม่ว่าการกินยาปฏิชีวนะแบบไม่ถูกต้องและไม่จำเป็นนั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดได้เช่นกัน เชื้อราในช่องคลอดนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก การป้องกันทำได้โดยไม่สวมชุดชั้นในติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดความอับชื้น และไม่ควรใส่แผ่นอนามัยตลอดเวลา นอกจากนี้ควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ด้วย

 
 
 


 
 
 

Copyright © นิตยสารคู่หูเดินทาง / MJ Media Company Limited