มุมสุขภาพ
 
 

+ เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับคลอเลสเทอรอล

 
 
  • คลอเลสเทอรอล คือ ไขมัน (lipid) ชนิดหนึ่งซึ่งสร้างที่ตับ และมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย คลอเลสเทอรอลจะถูกลำเลียงไปทั่วร่างกายด้วยสารที่เรียกว่าไลโปโปรตีน (lipoprotein)
  • แอลดีแอล หรือไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ (LDL; Low Density Lipoprotein) คือไขมันที่ไม่ดีซึ่งก่อโรคหัวใจได้โดยการเข้าไปอุดตันหลอดเลือดแดงต่างๆ ขณะที่เอชดีแอล หรือไขมันที่มีความหนาแน่นสูง (HDL; High Density Lipoprotein) จะช่วยขจัดคอเลสเทอรอลออกจากกระแสเลือด
  • ไตรกลีเซอไรด์ (TG; Triglyceride) เป็นสารไขมันอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในกระแสเลือดและมาจากไขมันที่เราบริโภคเข้าไปเป็นส่วนใหญ่ การควบคุมไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในระดับต่ำมีความสำคัญต่อสุขภาพหัวใจของเราไม่แพ้การควบคุมระดับคลอเลสเทอรอล

การวัดคลอเลสเทอรอล
การเจาะเลือดเพื่อวัดระดับไขมันต่างๆ (Lipid Profile) คือวิธีง่ายๆ ในการวัดระดับคลอเลสเทอรอลทั้ง 2 ชนิด และไตรกลีเซอไรด์ โดยค่าที่ออกมาจะอยู่ในหน่วยมิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dl) โดยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีควรจะมีปริมาณคลอเลสเทอรอลดังนี้

  • คลอเลสเทอรอลรวม (Total Cholesterol) ไม่เกิน 200 มก./ดล.
  • แอลดีแอลคลอเลสเทอรอล (ไขมันที่ไม่ดี) ไม่เกิน 130 มก./ดล.
  • เอชดีแอลคลอเลสเทอรอล (ไขมันที่ดี) มากกว่า 50 มก./ดล.
  • ไตรกลีเซอไรด์ ไม่เกิน 150 มก./ดล

 

 
 

+กดจุดลดอาการอยากอาหาร

 
 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการอยากอาหารบ่อยๆ แต่ไม่ว่าจะลองสะกัดกั้นอารมณ์อยากอาหารเท่าไรก็ไม่สามารถยับยั้งความหิวได้ ลองการนวดหรือกดจุดอาจช่วยคลายอาการอยากอาหารรุนแรงได้ เพราะบนใบหูของเรามีจุดกดอยู่มากมาย และการกดจุดเหล่านั้นอาจช่วยระงับความอยากได้ โดยนวดหูทั้งสองเป็นวงกลมโดยไล่จากช่วงบนของใบหูลงมายังติ่งหู ก่อนจะไล่ย้อนขึ้นไปสักหนึ่งนาที ลองดูแล้วคุณจะพบว่ามันทำให้คุณหิวน้อยลง

 
 

+อย่าเพิ่งยี้...ขี้หู

 
 

เมื่อพูดถึงขี้หูหลายคนอาจคิดว่ามันคือสิ่งสกปรกน่ารังเกียจ แต่ขอบอกว่าขี้หูไม่ใช่สัญลักษณ์ที่แสดงว่าหูไม่สะอาด หรือมีสุขภาพที่ไม่ดี เพราะหน้าที่ของขี้หูคือการช่วยป้องกันหู เพราะถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับหูก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาจนทำให้สูญเสียการได้ยินได้ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพหูจึงเป็นสิ่งพึงกระทำและห้ามละเลยเป็นอันขาด หากขี้หูแข็งเกินไปสามารถทำให้ขี้หูนุ่มได้ด้วยการหยดเบบี้ออยล์ หรือน้ำมันแร่ หรือยาหยอดหูชนิดพิเศษ เพียงเล็กน้อยลงในหู ต่อจากนั้นจึงใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดหูด้านนอกเบา ๆ อย่าพยายามทำให้ขี้หูนิ่มถ้าหูของคุณเจ็บ, ถ้าคุณมีอาการของโรคหวัด หรือถ้าเยื่อแก้วหูทะลุ ห้ามสอดวัตถุ เช่น ดินสอ หรือสำลีพันก้านเข้าไปในหู และเมื่อใดที่คุณมีปัญหาในการได้ยิน หรือมีอาการปวดหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด

 

+อีโคไล...โรคใหม่ที่ต้องระวัง

 
 

แบคทีเรียชนิดที่มีในร่างกายมนุษย์ส่วนใหญ่จะไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย แต่สำหรับแบคทีเรียที่มีชื่อว่า อีโคไล หรือ Escherichia ซึ่งพบได้ในลำไล้ของมนุษย์และสัตว์ สามารถทำให้เกิดโรคหรืออาการต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และอาการท้องร่วง เป็นต้น แบคทีเรียชนิด อีโคไลจะมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในมูลสัตว์ หลังจากที่โลกพบการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ระบาดในประเทศอังกฤษ วันนี้ขออัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้มาให้ได้รู้จักกันเพื่อเป็นการป้องกันและรับมือหากได้รับเชื้อชนิดนี้

เชื้ออีโคไลแพร่สู่คนได้อย่างไร
เชื้อแบคทีเรียอีโคไลจะแพร่สู่คนได้จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มี เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อชนิดนี้มักจะปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ

การระบาดของเชื้ออีโคไล
การแพร่ระบาดของเชื้อ อีโคไลเริ่มขึ้นในประเทศอังกฤษและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 20 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่รับประทานอาหารขณะร่วมพิธีในโบสถ์แห่งหนึ่งในปี  2539-2540

 อาการของผู้ได้รับเชื้ออีโคไล
จะพบอาการแต่เริ่ม ท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดภาวะลำไส้อักเสบและมีอาการเลือดออกไม่หยุด เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและพบเลือดปนกับอุจจาระ

ระยะฟักตัวของเชื้ออีโคไล
ระยะฟักตัวของเชื้อ อยู่ที่ประมาณ 3-8 วัน และจะปรากฏอาการในช่วง 3-4 วันหลังการได้รับเชื้อ แม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถนำเชื้อชนิดนี้ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื้อส่วนที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่นเกิดภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ผู้เสี่ยงได้รับเชื้ออีโคไลได้ง่าย
เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จะเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออีโคไลมากที่สุด เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป

การป้องกันและรักษาเมื่อได้รับเชื้ออีโคไล
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยตรง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดท้องได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์ เช่นยาแอสไพริน เพราะยากลุ่มนี้จะมีผลทำลายไตของผู้รับประทาน นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มบรรจุกระป๋องและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์



 

 

 
 


 

 
 


 
 
 

Copyright © นิตยสารคู่หูเดินทาง / MJ Media Company Limited