ภัยใกล้ตัว
 
 

'อินเตอร์เน็ต'
แหล่งความรู้ทันสมัยหรือภัยใกล้ตัวเด็ก
!?!

 

      

    

      ได้ชื่อว่าเป็นพ่อ-แม่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำให้ดีสุดชีวิตคือ การเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโต พร้อมถึงทางการศึกษาตามวัยที่พวกเขาควรจะได้รับเท่าที่สถานะทางครอบครัวจะหนุนส่งไปถึง อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการโอบอุ้มดูแลให้พวกเขาห่างไกลจากภยันตรายรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่มากมายเหลือเกินในปัจจุบัน สองภาระหน้าที่นี้ดูเหมือนจะไม่มีวันหมดอายุบ่งชัดเอาไว้ว่าเราผู้เป็นพ่อ-แม่ควรจะละวางภาระนี้ลงเมื่อใด ทว่าโลกในยุคปัจจุบันที่ใครๆ ก็พากันบอกว่ามันต่อสายเชื่อมทวีปทั่วถึงกันไปหมดแล้ว ด้วยสิ่งที่เรียกขานว่า 'อินเตอร์เน็ต' ดิฉันซึ่งเป็นคุณแม่คนหนึ่งเริ่มไม่แน่ใจแล้วล่ะค่ะว่า.. เราจะสามารถดูแลบุตรหลานของเราได้ทั่วถึงสักเพียงไร ?

      สารภาพอย่างคนที่สำนึกผิดว่า.. ครั้งหนึ่งด้วยเพราะความรักและปรารถนาที่จะให้ลูกๆ อยู่ในสายตาว่าปลอดภัยดี เมื่อพวกเขาเริ่มโตวัย เรา(พ่อ-แม่)จึงตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกๆ พกติดตัวไว้เผื่อกรณีมีเหตุฉุกเฉิน หรือเวลาไปรับไปส่งที่โรงเรียนจะได้สามารถติดต่อกันสะดวก ต่อมาด้วยอารามที่กังวลว่าลูกๆ จะขาดความกว้างไกลในมิติอื่นนอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วๆ ไปในโรงเรียนเรา(พ่อ-แม่อีกเหมือนกัน) จึงตกลงใจเจียดเงินก้อนเล็กๆ ที่เก็บไว้ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกๆ ด้วยหวังว่าจะให้พวกเขาเอาไว้ท่องไปในโลกกว้าง เพื่อเพิ่มพูนความรู้รอบตัวและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง เมื่อของที่ให้ทั้งสองสิ่งเกิดก่อขึ้นจาก 'ความรัก' และ 'ความหวังดี' เป็นด้านหลัก เราจึงไม่ใคร่กังวลนักเกี่ยวกับผลอันเป็นด้านลบที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะประมาท!?! หากแต่เราเข้าใจดีว่าสิ่งอย่างในโลกนี้ย่อมมีทั้งด้านดีและด้านร้ายอยู่เสมอ ถ้ารู้จักควบคุมให้อยู่ในสายตาปัญหาก็ไม่น่าจะเกิด
จนวันหนึ่งเมื่อลูกๆ ก้าวสู่ช่วงชีวิตวัยรุ่น เราจึงเริ่มฉุกคิดว่าเรื่องบางเรื่องปัญหาบางอย่างหากคิดระวังแต่ในมิติเก่าๆ ตามประสบการณ์ที่พ่อ-แม่เคยผ่านพบมา (เมื่อหลายสิบปีก่อน) อาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาในช่วงวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนรูปแบบเกินจินตนาการของผู้ใหญ่ไปไกลแล้ว และก็จริงอย่างว่า.. วันนี้ความทันสมัยที่เราเองเป็นผู้ที่มอบให้ลูกๆ กลับย้อนมาทำร้ายครอบครัวของเราอย่างคาดไม่ถึง เพียงเพราะดิฉันและพ่อของพวกเขาขาดความใส่ใจ และให้ความสำคัญกับภัยเงียบที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีให้ดีพอ หลายปีก่อนหน้านี้ทั้งดิฉันและสามี รับรู้แค่ว่าโทรศัพท์มือถือมีไว้เพื่อติดต่อสื่อสารกันในยามจำเป็น เช่นเดียวกับที่เข้าใจว่าอินเตอร์เน็ตมีไว้เพื่อเสาะแสวงหาคำตอบ จากสิ่งที่เรายังไม่รู้และเพื่อความสนุกเพลิดเพลินบางเรื่องบางราว สิ่งที่เราพลาดไปอย่างไม่น่าให้อภัยคือ ลืมฉุกคิดว่านอกจากการติดต่อสื่อสารหรือเสาะแสวงหาเรื่องราวดีๆ แล้ว โลกอินเตอร์เน็ตทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์และจากโทรศัพท์มือถือ มันยังสามารถฉุดกระชากลูกๆ ของเรา ให้ก้าวลงไปสู่หลุมดำแห่งความกระหายใคร่รู้เกินวัยได้อย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ที่มุ่งเน้นแต่การเอาชนะและความรุนแรง, เว็บไซต์แนวปลุกอารมณ์เพศที่ไร้การควบคุมอย่างสิ้นเชิง, สังคมคนกลางคืน-คนนอกรีต, เว็บไซต์การพนันหรือซื้อ-ขายยาเสพติด ตลอดจนภาพถ่าย-ภาพเคลื่อนไหวที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เยาวชนหรือใครก็ตามสามารถเข้าถึงได้ง่ายตลอดเวลา สะดวกสบายเสียยิ่งกว่าการเดินออกไปซื้อขนมหน้าปากซอยกินเสียอีก

      ดิฉันเชื่อว่ายังมีพ่อ-แม่ผู้ปกครองอีกจำนวนมากทีเดียว ที่ยังรู้ไม่เท่าทันถึงภัยในด้านร้ายของสิ่งที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ต หลายครั้งหลายหนไม่ว่าจะทั้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวของดิฉันเอง และเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวทำนองเดียวกัน เราผู้ใหญ่มักจะเลือกที่จะโทษเด็กหรือไม่ก็โทษสังคมรอบข้างเด็กๆ ก่อนเสมอ แทนที่จะหันมาสำรวจว่าแท้จริงแล้ว..ใครเป็นคนหยิบยื่นพาหะที่สามารถทอดนำไปสู่เชื้อโรคร้ายเหล่านั้น ใครที่ชอบอ้างเหตุผลว่าทำทุกอย่างเพื่อลูก สรรหาแต่สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อพวกเขา โดยขาดการศึกษาหาแง่ร้ายของสิ่งที่มอบให้อย่างรอบคอบและรู้เท่าทัน จะเป็นใครเสียอีก.. ถ้าไม่ใช่เราผู้เป็นพ่อแม่และผู้ปกครองของพวกเขา
ถึงวันนี้ดิฉันยังรู้สึกว่าโลกอินเตอร์เน็ตยังมีแง่งามดีๆ ให้เราได้เข้าไปค้นหาความรู้และความบันเทิงอยู่อีกมากมาย แม้ครอบครัวของดิฉันจะผ่านช่วงวิกฤตมาได้ไม่สวยสมบูรณ์เหมือนอย่างในภาพยนตร์ตอนจบ แต่ดิฉันและสามีก็ยังอนุญาตให้ลูกๆ เข้าไปท่องโลกในอินเตอร์เน็ตได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดและภายใต้ระยะเวลาการใช้งานที่กำหนดให้

      จดหมายถึงทีมงานคู่หูเดินทาง (คอลัมน์ภัยใกล้ตัว) ฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดมากไปกว่าการที่อยากบอกคุณพ่อ-คุณแม่และผู้ปกครองทุกท่านว่า.. นอกจากความรักที่มอบให้ลูกๆ แล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเข้าใจ ที่ต้องเข้าใจทั้งสิ่งที่ได้มอบให้และต้องเข้าใจในปฏิกิริยาตอบรับด้วย



 
 
 

Copyright © นิตยสารคู่หูเดินทาง / MJ Media Company Limited