ภัยใกล้ตัว
 
 

 ระวังฟ้าผ่า!
 

   

    

       เปรี้ยง! (นั่นพูดไม่ทันขาดคำ) พลันที่สายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงมาหูแทบดับนั้น เรามักได้ยินประโยคหนึ่งจากใครสักคนรอบๆ ข้างตามมาด้วยเสมอ “เฮ้ย.. ใครสาบานวะ” คุ้นๆ ไหมครับประโยคนี้ จากนั้นก็ตามมาด้วยอาการลนลานยกมือขึ้นป้องหูตัวเองบ้าง วิ่งไปมุดซุกอยู่ใต้หมอนใต้ผ้าห่มบ้าง หนักหน่อยก็โน่นเลย "ลูกช้างจะไม่ผิดคำสาบานอีกแล้วจ้า.." พร่ำพูดไปก็ยกมือท่วมหัวไปพลาง นี่แหละไลฟ์สไตล์ในทุกช่วงฝนของคนไทย น่าหยิกน่าหยอกดีใช่ไหมล่ะ.. น้อยคนนะครับที่จะปั้นสติของตัวเองให้ตั้งอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ -- ทว่าบางคนอาจแย้งให้ "อ้าว.. ก็ฟ้าผ่าจะให้ออกไปยืนหัวโด่อยู่กลางถนนทำไมล่ะ หมอนี่พูดแปลก" หาใช่อย่างนั้นครับ ผมไม่ได้หมายให้ใครออกไปยืนเอาหัวล่อฟ้าเช่นนั้น แต่กำลังจะหมายความว่า เราน่าจะตั้งสติแล้วคิดหาวิธีที่จะช่วยให้ตัวเอง หรือคนที่เรารักปลอดภัยจากภัยธรรมชาติรูปแบบนี้เท่านั้นเอง "แล้วตกลงจะให้ทำไง" แหม.. เจ๊นี่อารมณ์ร้อนแรงดีเหมือนกันนะ ก่อนอื่นผมว่าเรามาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ฟ้าผ่านี้ก่อนดีไหมครับ “นี่อย่าบอกนะว่าจะให้ฉันกางร่มออกไปเชิญมันเข้ามานั่งคุยกันในบ้าน” อืม..ผมชักชอบเจ๊แล้วสิ หามานานแล้วคนปากล่อฟ้าแบบนี้!?! “แหม.. เจ๊ล้อเล่นน่ะ พ่อว่าของพ่อต่อไปเถอะ”

       'ฟ้าผ่า' เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งครับ มีสาเหตุเกิดมาจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าจำนวนมหาศาลระหว่างวัตถุที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างพื้นโลกกับก้อนเมฆ หรือระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ โดยทั่วไปฟ้าผ่ามักจะเกิดในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง ภายในก้อนเมฆและบริเวณพื้นดินจะมีประจุไฟฟ้าที่แตกต่างกันคือ 'ประจุบวก' และ 'ประจุลบ' เมื่อประจุต่างขั้ววิ่งเข้าหากันก็จะทำให้เกิดฟ้าผ่า
ฟ้าผ่าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตคือปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้นดิน ในลักษณะที่ประจุลบเคลื่อนที่จากฐานเมฆลงมาที่อากาศเมื่อเข้าใกล้พื้นดิน จะทำการเหนี่ยวนำประจุบวกจากวัตถุบนพื้นโลกรวมถึงจากพื้นดินให้ไหลขึ้นไปบนที่สูง อาทิ ตามต้นไม้ หลังคาบ้านเรือน หรืออาคารสูงต่างๆ เมื่อประจุต่างขั้วเดินทางมาพบกัน และเคลื่อนที่ในทิศทางที่สวนทางกัน จะเกิดกระแสโต้กลับแบบฉับพลันที่เราเรียกว่าฟ้าผ่านั่นเอง

สาเหตุของการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นจากลักษณะดังนี้
1. ไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างกาย โดยการที่ผู้เสียชีวิตสัมผัสกับวัตถุที่ถูกฟ้าผ่า อาทิ ผู้เสียชีวิตกำลังสัมผัสต้นไม้อยู่ขณะที่เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ต้นไม้นั้น
2. ไฟฟ้าแลบจากทางด้านข้าง ในลักษณะที่กระแสไฟฟ้ากระโดดเข้าสู่ตัวคนขณะที่ผ่าลงมายังวัตถุเหนี่ยวนำต่างๆ
3. กระแสไฟฟ้าวิ่งตามพื้น อย่างเช่นเมื่อฟ้าผ่าต้นไม้กระแสไฟฟ้าอาจจะกระจายไปตามพื้นที่รอบๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำเจิ่งนอง

       "เอ่อ.. พ่อหนุ่ม นี่เจ๊ไม่ได้มานั่งติววิชาฟิสิกส์นะจ๊ะ เจ๊ว่าเธอบอกวิธีที่จะช่วยให้เจ๊รอดตายจากฟ้าผ่าเลยดีกว่า เจ๊ฟังจนมึนไปหมดแล้ว" แหม.. เจ๊นี่ใจร้อนสมวัยจริงๆ นะครับ ใจเย็นๆ เดี๋ยวผมขอตั้งข้อสังเกตให้คิดตามกันเล่นๆ อีกสักประเด็น
       สังเกตไหมว่าสมัยก่อนเราได้ยินข่าวคนเสียชีวิต เพราะถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่มักประสบเหตุอยู่ตามทุ่งโล่งกว้าง ใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือไม่ก็สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นตัวนำชั้นดี แต่เดี๋ยวนี้สถิติคนถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้เป็นหลักแล้ว ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่นั่งอยู่ในบ้าน อาคาร หรืออยู่ในเมืองอย่างเราๆ นี่แหล่ะ ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขชี้ว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ถึงเกือบ 150% จากเดิมที่ผู้โชคร้ายมักเป็นกลุ่มคนในชนบท ทว่าตอนนี้แนวโน้มกลับกลายเป็นคนเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง แต่ที่น่าตกใจกว่าคือเกินครึ่งของผู้ประสบภัยเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในเขตฝนฟ้าคะนองโดยตรง

       มีการประมาณการณ์จากผู้เกี่ยวข้องว่า ฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นหนึ่งครั้งจะนำประจุไฟฟ้าจำนวนมหาศาลตามลงมาด้วย ซึ่งหากสามารถคิดหาวิธีกักเก็บพลังงานเหล่านี้ไว้ได้ มันอาจใช้หล่อเลี้ยงมหานครของประเทศไทยให้สว่างไสวอยู่ได้ถึงสองวันเต็มๆ แต่ก็เป็นเรื่องยากยิ่งเนื่องเพราะประจุไฟฟ้าปริมาณมหาศาลเหล่านี้ แข่งกันแหวกอากาศลงมาด้วยชั่วเวลาเพียงเสี้ยววินาที (ประมาณ 0.08 วินาที) ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องหาเส้นทางลงสู่พื้นดินที่สั้นและสะดวกที่สุด หากมันผ่าตามยอดตึกสูงมันก็จะวิ่งผ่านสายล่อฟ้าลงมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าหากพื้นดินบริเวณที่ติดตั้งสายล่อฟ้ามีความต้านทานสูง อาทิเช่น มีส่วนประกอบที่เป็นทรายหรือมีความชื้นน้อย ฟ้าที่ผ่าลงมาก็อาจวิ่งลงดินไปไม่หมด บางส่วนอาจแยกสายไปลงที่อื่น หากเป็นกรณีที่ฟ้าผ่าลงตามตึกสูงๆ ในเมืองที่มีการติดตั้งสายดินไม่ดี (มีความต้านทานสูง) มันก็จะพยายามหาเส้นทางใหม่ที่ดีกว่าโดยการกระโดดไปตามสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ เพื่อไปลงพื้นดินที่อยู่ใกล้ที่สุดซึ่งแหล่งพวกนี้มักจะอยู่ตามโรงไฟฟ้าย่อย หรือชุมสายโทรศัพท์ละแวกใกล้เคียง ซึ่งมีระบบการติดตั้งสายดินที่ดีกว่า และถ้าหากระหว่างทางถ้ามันเจออะไรก็ตามที่สามารถลงดินได้ดี มันก็จะวิ่งเข้าใส่ทันที หากช่วงเวลานั้นคุณใช้คอมพิวเตอร์อยู่หรือบังเอิญอยู่ใกล้กับจุดที่ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็อาจโดนลูกหลงจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าแบบนี้ได้?เช่นกัน

       “แล้วเจ๊ต้องทำยังไงล่ะพ่อคุณ ไม่คิดว่าความเสี่ยงมันจะอยู่ใกล้ตัวขนาดนี้นะเนี่ย" แหม.. ตอนนี้ล่ะทำหน้าซีดเป็นไก่ต้มเชียวนะครับ เราลองมาดูวิธีป้องกันและระวังตัวตามนี้นะครับ
       จำไว้ว่าฟ้าผ่านั้นจะผ่าแต่สิ่งที่เป็นสื่อไฟฟ้า และอยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้ามากกว่าสิ่งอื่นบริเวณข้างเคียงเสมอ เพราะประจุไฟฟ้ามหาศาลพวกนั้นมักจะพยายามหาทางลัดที่สะดวกที่สุดระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน ถ้ามีสื่ออะไรที่เหมาะสมและอยู่สูงกว่ามันก็จะผ่าน (ผ่า) ลงมาทางสื่อนั้น สมัยก่อนจึงมักมีข้อห้ามกันว่า.. อย่าเดินกลางทุ่งโล่งในขณะที่ฝนฟ้าคะนอง อย่าถือหรือสวมใส่วัตถุที่เป็นโลหะเหนี่ยวนำอยู่กลางแจ้ง หรืออย่าเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้สูงๆ ขณะที่ฝนฟ้าคะนอง เป็นต้น ส่วนการป้องกันฟ้าผ่าลงตามอาคารบ้านเรือนนั้น ทำได้โดยเอาโลหะปลายแหลมขึ้นไปปักไว้บนส่วนที่อยู่สูงที่สุดของสิ่งก่อสร้างนั้น แล้วต่อสื่อ (สายดิน) ลงมาผูกไว้กับแผ่นทองแดงฝังลงไปใต้ดินลึกๆ เพื่อเป็นทางผ่านของอนุภาคไฟฟ้า อีกคำแนะนำสำคัญสำหรับคนเมืองในยุคปัจจุบันที่ขาดอินเตอร์เน็ตหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้ คือถ้าใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องหนักๆ ให้รีบปิดเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น แล้วถอดปลั๊กไฟฟ้าที่ต่อกับเครื่องรวมถึงอุปกรณ์ต่อเชื่อมอื่นๆ อาทิ พรินเตอร์ ลำโพง จอภาพ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่เหล่านี้มักต่ออยู่บนรางปลั๊กรวมอยู่แล้ว แค่จัดการดึงสายปลั๊กออกเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ 'สายโทรศัพท์' ที่เสียบต่ออยู่กับ 'โมเด็ม' (Modem) เพราะหากเราถอดทุกอย่างแต่ไม่ถอดสายโทรศัพท์ออกจากอุปกรณ์ควบต่ออื่นๆ หากเกิดฟ้าผ่าลงมาขณะที่ยังใช้อุปกรณ์พวกนี้อยู่ เราก็อาจได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากเข้าใจในหลักของความปลอดภัยเบื้องต้นที่ผมลากยาวมา        

       อีกสิ่งหนึ่งในบ้านที่เจ๊ควรต้องกำจัดความเสี่ยงระหว่างที่เกิดฝนฟ้าคะนองคืออะไรครับ “อ๋อ.. ก็ถอดปลั๊กไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าออกไงจ๊ะ ถูกมั๊ย ถูกมั๊ย..” ถูกแล้วครับ อ้อ.. แล้วก็เลิกเที่ยวไปสาบานกับคนโน้นคนนี้ได้แล้วนะเจ๊! “จ้า.. เจ๊สาบานว่าจะเลิกแล้ว อุ๊บ!”



 
 
 

Copyright © นิตยสารคู่หูเดินทาง / MJ Media Company Limited